รถเข็น (0 ชิ้น)
 
แนวคิดพื้นฐานด้านมานุษยวิทยาการแพทย์

เขียนโดย
ศุกร์ 09 กรกฎาคม 2553 @ 07:10


เป็นการทบทวนที่มาและพัฒนาการของการศึกษาทางมานุษยวิทยาการแพทย์ รวมทั้งประเด็นที่สนใจศึกษาซึ่งแตกต่างไปตามการเปลี่ยนแปลงของสังคมและสภาพแวดล้อม และผู้เขียนยังได้รวบรวมงานวิจัยในแง่มุมต่างๆ กล่าวอ้างเป็นระยะ จึงอาจใช้เป็นเอกสารเบื้องต้นในการค้นคว้าประเด็นที่สนใจอื่นๆ ต่อไปได้ 

 

 

ในบทความนี้ได้นำเสนอแง่มุมการศึกษาด้านมานุษยวิทยาการแพทย์ 4 แบบได้แก่ นิเวศวิทยาและระบาดวิทยา การแพทย์ชาติพันธุ์ การแพทย์ในมุมมองเชิงสังคม และการแพทย์ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรม

ในศตวรรษที่19 มีความสนใจศึกษาเรื่องลักษณะทางสังคมและวัฒนธรรมที่มีผลต่อความเจ็บป่วย เนื่องจากเป็นช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรม เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ การเมืองสิ่งแวดล้อม และปรากฎปัญหาสาธารณสุขมากขึ้น งานศึกษาในช่วงต้นให้ความสนใจศึกษาสาเหตุของการเกิดโรค โดยเฉพาะโรคระบาดที่เกิดจากการติดเชื้อ ศึกษาโดยนักระบาดวิทยา พยายามมองหาความเชื่อมโยงของการเกิดโรค กับปัจจัยทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรม และนิเวศวิทยา  

ในช่วงแรกนั้นมานุษยวิทยาการแพทย์เริ่มต้นจากการศึกษาทางระบาดวิทยา เวชศาสตร์ชุมชน (community medicine) การพยาบาล สุขภาพเด็ก การวางแผนประชากร และการศึกษาระบบการแพทย์แบบประเพณี  โรคและวิธีการรักษาโรคไม่ได้เป็นเพียงวิธีการจัดการทางชีววิทยาเท่านั้น แต่ชนิดของความเจ็บป่วยและวิธีการรักษายังขึ้นอยู่กับปัจจัยทางสังคมอย่างมาก ทำให้แพทย์เริ่มสนใจว่าพฤติกรรมของมนุษย์มีผลต่อการกำหนดสุขภาพที่ดี การเกิดและการควบคุมโรคด้วย  มานุษยวิทยาจึงสนใจศึกษาสังคมที่มนุษย์อยู่อาศัย รวมถึงความเชื่อและระบบคุณค่า และปรากฏการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นด้วย การทำความเข้าใจปรากฏการณ์สุขภาพที่เกิดขึ้นจึงอาจทำให้เข้าใจปรากฏการณ์ทางสังคมด้วย 

การศึกษาทางระบาดวิทยาที่เกี่ยวกับนิเวศวิทยา การพัฒนาด้านอุตสาหกรรม การขยายพื้นที่เพาะปลูกซึ่งกระทบต่อนิเวศวิทยาอันเป็นที่อยู่อาศัยและพึ่งพาของกลุ่มคนต่างๆ รวมทั้งลักษณะทางสังคมวัฒนธรรม  ความแตกต่างด้านเพศและบทบาทางเพศ และชาติพันธุ์   ความแตกต่างเรื่องสภาพการทำงาน ยีนส์ที่สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมภายนอกร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไป หรือสภาพการทำงานซึ่งยังมีข้อถกเถียงว่าต้องพิจารณาปัจจัยอื่นอีก 

การศึกษาด้านการแพทย์ชาติพันธุ์ (ethnomedicine)  ศึกษาเกี่ยวกับความเชื่อในการเกิดโรคและการรักษาในสังคมต่างๆ   ทำให้เกิดความตื่นตัวและการพัฒนาทฤษฎี วิธีวิจัยและประเด็นปัญหาที่สนใจหลากหลายจนเกิดเป็นอัตลักษณ์ของมานุษยวิทยาการแพทย์  มีการศึกษาเรื่องการจำแนกแยกโรคหรือการให้ความสำคัญต่อความเจ็บป่วยซึ่งแตกต่างกันในแต่ละสังคม การศึกษาวัฒธรรมและวิธีการรักษาต่างๆผู้ทำหน้าที่รักษาโดยศึกษาลักษณะการเรียนรู้ วิธีการถ่ายทอดความรู้ของการแพทย์อินเดีย(อายุรเวท) การแพทย์จีน หมอสมุนไพร ผู้หยั่งรู้(หมอส่อง) หมอผี หมอตำแย หมอนวด และพบว่าผู้ป่วยจะเลือกรักษากับหมอใดขึ้นอยู่กับการรับรู้ต่ออาการและโรคที่เกิดขึ้น  ศึกษาเรื่องการวินิจฉัยโรค  การค้นหาสาเหตุของโรคว่ามีเหตุจากสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ ธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ หรือสิ่งเหนือธรรมชาติ การศึกษาเรื่องความเชื่อไสยศาสตร์ และศาสนาถูกนำมาใช้อธิบายที่มาของการเกิดโรคและสรุปว่าสาเหตุของการเกิดโรคแยกไม่ออกจากบริบททางสังคม วัฒนธรรม การอธิบายการเกิดโรค เป็นการอธิบายจากประสบการณ์ของคนป่วยและมุมมองของสมาชิกในสังคมเดียวกัน 

การศึกษาการแพทย์ในมุมมองเชิงสังคม  มีการอธิบายว่าความเชื่อเรื่องการเจ็บป่วยเป็นการลงโทษคนในสังคมอย่างหนึ่ง พบว่าแนวคิดการอธิบายสาเหตุของการเกิดโรคและการรักษาเป็นทั้งการลงโทษและการโอบอุ้มระบบศีลธรรมและสังคม  อาการเจ็บป่วยเกิดจากการการทำผิดข้อห้ามของซึ่งอาจทำให้ทั้งตนเองและคนอื่นในครอบครัวเจ็บป่วย บทลงโทษเหล่านี้จึงเป็นเครื่องมือในการค้ำชูระบบคุณค่าของสังคม ไม่ให้คนทำผิดหรือเห็นแก่ตัว การวิเคราะห์เรื่องความเจ็บป่วยว่าเป็นพฤติกรรมเบี่ยงเบนของ Parson แสดงให้เห็นถึงระบบสังคมที่ทำหน้าที่ผิดปกติ การเจ็บป่วยทางกายและจิตเป็นรูปแบบหนึ่งของการพฤติกรรมเบี่ยงเบน 

การแพทย์ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรม  แม้ว่าสังคมปัจจุบันจะเน้นการผลิตอุตสาหกรรม  ก็ยังคงมีระบบการดูแลสุขภาพหลากหลาย  มีงานศึกษาระบบการแพทย์พื้นบ้านที่ยังดำรงอยู่ในสังคมปัจจุบัน การปะทะเรื่องแนวคิดการรักษาและมุมมองต่อความเจ็บป่วยของแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์พื้นบ้าน การเลือกรูปแบบการรักษาขึ้นอยู่กับผู้ป่วยมองว่าการแพทย์แบบบใดเหมาะสมกว่า และยังมีปัจจัยจากคนในครอบครัว ชุมชนช่วยตัดสินด้วย  การศึกษาความสัมพันธ์ของผู้ป่วยและผู้ให้การรักษา  ความเชื่อเรื่องสุขภาพและความเจ็บป่วย รวมทั้งการสื่อสารระหว่างกัน พบว่าแม้ระบบบริการสุขภาพหลายแห่งมีประสิทธิภาพดีแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถลดอัตราการเจ็บป่วยลงได้เนื่องจากระบบสาธารณูปโภคไม่ดี เช่น น้ำไม่สะอาดหรืออาหารไม่เพียงพอ และความอดอยากยากจนก็เป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญด้วย

ข้อมูลและผลการศึกษาทำให้ทราบถึงเหตุผลของการกระทำต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับสุขภาพ ซึ่งช่วยให้เกิดความเข้าใจพฤติกรรมของมนุษย์ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม วัฒนธรรม  และนำไปเปลี่ยนแปลงสภาพสังคมให้ดีขึ้นด้วย งานศึกษาในช่วงหลังสนใจเรื่องการรับรู้และการให้ความหมายเกี่ยวกับโรคมากขึ้น รวมทั้งปัจจัยทางสังคมที่ส่งผลต่อการแสวงหาการรักษา  ผลกระทบของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ช่วยให้กระบวนการรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ส่งผลกระทบต่อชีวิตและสังคม ทำให้เกิดประเด็นใหม่ๆ ในการศึกษา เช่น เทคโนโลยีทางการแพทย์ช่วยยืดชีวิตทั้งที่ป่วยเป็นโรคที่รักษาไม่ได้ หรือการตัดต่อยีนส์และพันธุวิศวกรรม  ที่ยังไม่อาจคาดเดาได้ว่าจะเกิดผลกระทบอย่างไรต่อนิเวศวิทยาและความเป็นอยู่ของมนุษย์ 

สุทิศา  ปลื้มปิติวิริยะเวช
นักศึกษาปริญญาเอก สาขามานุษยวิทยา 
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  
ปีการศึกษา 1/2553

 

 



ปรับของสมนาคุณการสมัคร/ต่ออายุสมาชิก
รางวัลการประกวดสร้างหนังสั้น สร้างสรรค์สื่อ
ความตาย: เทคโนโลยีทางการแพทย์หรือวัฒนธรรมเป็นตัวกำหนด
ความรู้ชายขอบ: อำนาจและประสบการณ์
ดูทั้งหมด »
E-Mail

รหัสผ่าน

จดจำการล๊อคอิน

สมัครสมาชิก ลืมรหัสผ่าน