รถเข็น (0 ชิ้น)
 
ความรู้ชายขอบ: อำนาจและประสบการณ์

เขียนโดย
พุธ 01 กันยายม 2553 @ 09:28


 บทความนี้ผู้เขียน ได้สังเคราะห์จากประสบการณ์ภาคสนามจากการทำงานร่วมกับกลุ่มคนที่ประสบกับวิกฤตสุขภาพ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเอดส์ ในการดิ้นรนเพื่อให้พ้นจากสภาพการเป็น “ผู้ที่ต้องตายในเวลาอันใกล้”  


           ซึ่งความรู้เรื่องโรคและการเจ็บป่วยมีพลังในการตัดสินชีวิตคนอย่างรุนแรง 

           ผู้เขียนมีวัตถุประสงค์ที่จะศึกษาว่าอำนาจของความรู้ที่รุนแรงนั้นถูกสร้างมาอย่างไร และทำไมทางออกของมนุษย์ในเรื่องนี้จึงดูตีบตันมืดบอด โดยมุ่งวิเคราะห์ความเชื่อมโยงกันระหว่างความรู้ อำนาจ และวิกฤตสุขภาพ ของกลุ่มผู้ป่วยที่อยู่ในกลุ่มวิกฤตสุขภาพในสังคมสมัยใหม่ (modern society)       

           ผู้เขียนได้สนใจและเลือกพิจารณาปฏิสัมพันธ์ภายใต้ความสัมพันธ์เชิงอำนาจของความรู้ที่มนุษย์เลือกใช้ในการเผชิญหน้ากับวิกฤตสุขภาพ ซึ่งพบว่านอกจากความรู้การแพทย์แผนปัจจุบันแล้ว ยังมีความรู้ชุดอื่นๆเช่น หมอพื้นบ้าน สำนักทรง หมอพระ และการดูแลสุขภาพภายในบ้านที่เรียนรู้ผ่านการผลิตซ้ำในระบบความสัมพันธ์ย่อยต่างๆ โดยมองว่าทุกชุดความรู้ต่างถูกกำกับไว้ด้วยวาทกรรมหนึ่งๆ ซึ่งอาจจะเหมือน แตกต่าง หรือเหลื่อมซ้อนกับวิทยาศาสตร์การแพทย์ ขึ้นอยู่กับตัวองค์ความรู้ (body of knowledge) และตรรกะอธิบายเบื้องหลัง 
           การศึกษาครั้งนี้ผู้เขียนได้เลือกพิจารณาความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างความรู้ในพื้นที่สุขภาพสองชุด ระหว่างวิทยาศาสตร์การแพทย์ (medical science) ที่อธิบายสุขภาพและการเจ็บป่วยในกรอบชีวการแพทย์และมีฐานะเป็นชุดวาทกรรมหลัก  ( dominant discourse) และความรู้ด้านการรักษาพยาบาลแบบความรู้รองหรือความรู้ชายขอบ ที่มีสำนักทรงน้ำฟ้าเป็นตัวแทนความรู้รอง
หรือความรู้ชายขอบ (marginalized knowledge) ซึ่งชุดความรู้ดังกล่าวได้แสดงถึงสนามการปะทะประสานกันระหว่างความรู้ภายใต้ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ 
           สำนักน้ำฟ้า เป็นสำนักทรงแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ มีจุดมุ่งหมายสำคัญในช่วยเหลือมนุษย์ที่ประสบกับปัญหาวิกฤตสุขภาพ ผ่านปฏิสัมพันธ์ที่มีต่อกันระหว่างมนุษย์และองค์เทพ กระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น ร่างทรง ผู้ช่วยรักษา ผู้ป่วย และญาติผู้ป่วย และทวยเทพเทวดา ความรู้ที่สำนักน้ำฟ้าใช้ในการรักษาความเจ็บป่วยมีสองนัยคือ
         หนึ่ง ความรู้ในการรักษาเพื่อให้ผู้ป่วยพ้นจากอาการป่วย ทั้งกายใจ และ
        สอง ความรู้ที่เน้นการเรียนรู้ของผู้ที่เข้ามาเกี่ยวข้องสัมพันธ์เป็นสมาชิกในเครือข่ายขององค์กรโดยมีโครงสร้างความสัมพันธ์สองส่วนได้แก่ส่วน พลังจากมิติอื่นๆ และ ผู้ที่รับสังขารผ่านญาณเป็นผู้ที่มีปฏิบัติการร่วมกันภายใต้วาทกรรมและปฏิบัติการเชิงวาทกรรมของสำนักน้ำฟ้า
           ในการวิเคราะห์ผู้เขียนได้ใช้มโนทัศน์เกี่ยวกับอำนาจในกระบวนการ subjection และ subjectivation ของมิเชล ฟูโกต์มาเป็นแนวทางการอธิบาย โดยกระบวนการ subjection ได้สร้างอัตบุคคล (subject) ทั้งที่เป็นตัวบุคคลและความรู้ภายใต้วาทกรรมที่ถูกครอบงำอยู่ โดยวิเคราะห์ว่ากระบวนความรู้ภายใต้วาทกรรมวิทยาศาสตร์การแพทย์มักสร้างให้มนุษย์เป็นผู้ป่วยหรืออัตบุคคล 
(subject) ที่ท้อแท้สับสนไร้ทางออกที่เป็นอิสระจากการพึ่งพิงแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ และเมื่อกลุ่มคนเหล่านั้นต้องการที่จะหลุดพ้นจากสภาวะการเป็นผู้รอความตาย
            ความรู้ชายขอบที่ถูกเบียดขับในกรณีนี้คือการรักษาในสำนักทรงน้ำฟ้าจึงถูกหยิบยกขึ้นมา และได้นำมาสู่การต่อต้านบนพื้นที่ที่สาม (third space) ผ่านชุดความรู้เรื่องจักรวาลวิทยาที่อธิบายระบบความเชื่อเกี่ยวกับชีวิตและความตาย และการให้ความหมายแก่สุขภาพและการเจ็บป่วย และปฏิบัติการของวาทกรรม เช่น สัญญากรรม สายสัญญา และการเข้าสู่พิธีกรรมโดยการนั่งสมาธิเปิดสายสัญญากรรมเป็นต้น  
           การศึกษานี้ยังนำไปสู่การอธิบายระบบจักรวาลวิทยาของสำนักน้ำฟ้า ที่เป็นทั้งวาทกรรมและประดิษฐกรรมทางวาทกรรม โดยได้อธิบายมโนทัศน์ว่าด้วยเรื่องภพภูมิตามวิธีคิดของสำนักน้ำฟ้า ที่ผสานชุดความรู้ พราหมณ์ พุทธ ผี เข้าไว้ด้วยกัน และผู้เขียนยังได้อธิบายความเกี่ยวโยงกับระบบจักรวาลวิทยาของพุทธศาสนาแบบชาวบ้าน และพุทธศาสนาแบบปัญญาชน  
แนวความคิดเรื่องกรรมและปฎิสัมพันธ์ระหว่างองค์เทพและมนุษย์ในชุมชนสำนักน้ำฟ้า 
           ผู้เขียนได้เสนอว่าวิกฤตความรู้และเหตุผลในแบบวิทยาศาสตร์ ที่เน้นสรรพสิ่งแบบแยกส่วนทั้งในการแพทย์สมัยใหม่ และพุทธศาสนาแบบปัญญาชนกระแสหลักไม่สามารถตอบสนองชีวิตของคนที่กำลังเผชิญวิกฤตของชีวิตมนุษย์ได้  ซึ่งคุณลักษณะของชุดความรู้เรื่อง “ไสย” ที่ปรากฎอยู่ในพุทธชาวบ้านได้นำไปสู่การตอบสนองทางจิตใจของผู้คน จนนำมาถึงความสามารถแก้ไขปัญหาการเจ็บป่วยทั้งทางกายและทางจิตวิญญาณ ซึ่งสำนักน้ำฟ้าเป็นตัวอย่างหนึ่งของชุดความรู้กระแสรองที่สามารถเติมเต็มส่วนที่ขาดหายไปของการแพทย์กระแสหลัก ที่สะท้อนว่าในวิกฤตการณ์ของชีวิตมนุษย์ไม่สามารถอธิบายหรือแก้ไขได้ด้วยตรรกะคิดหรือความรู้ใดความรู้หนึ่งเท่านั้น แม้แต่มองในลักษณะองค์รวม แต่ต้องมองในระดับการปะทะประสาน ที่มีทั้งการเลือกบางอย่างละทิ้งบางอย่าง รวมทั้ง การอธิบาย ตีความ และจัดเรียงองค์ประกอบใหม่ภายใต้ตรรกะของตนเอง
                                      
หทัยรัตน์     มั่นอาจ
เก็บตกศุกร์เสวนา 27 สิงหาคม 2553


ปรับของสมนาคุณการสมัคร/ต่ออายุสมาชิก
รางวัลการประกวดสร้างหนังสั้น สร้างสรรค์สื่อ
ความตาย: เทคโนโลยีทางการแพทย์หรือวัฒนธรรมเป็นตัวกำหนด
ความรู้ชายขอบ: อำนาจและประสบการณ์
ดูทั้งหมด »
E-Mail

รหัสผ่าน

จดจำการล๊อคอิน

สมัครสมาชิก ลืมรหัสผ่าน