รถเข็น (0 ชิ้น)
 
James Ferguson กับการเมืองเรื่องการกระจายความมั่งคั่ง

เขียนโดย gam pata
พุธ 04 มิถุนายน 2557 @ 04:39


การประชุม IUAES ที่เมืองชิบะ ประเทศญี่ปุ่น มีการบรรยายพิเศษโดย Prof. James Ferguson เรื่อง Distributive Politics มีเนื้อหาน่าสนใจ

การประชุมมานุษยวิทยาและชาติพันธุ์ศึกษานานาชาติวันที่สองมีการบรรยายพิเศษโดย Prof. James Ferguson ซึ่งผลงานเล่มแรกที่ทำชื่อเสียงให้กับท่านมาก คือหนังสือเรื่อง The Anti-politics Machine: Development, Depoliticization, and Bureaucratic Power in Lesotho

(มีบทความตามลิ้งค์นี้ครับ
http://www.colorado.edu/geography/class_homepages/geog_3682_f08/Articles/Ferguson%20-%20The%20Anti%20Politics%20Machine.pdf

หนังสือเล่มนี้เป็นงานเขียนวิพากษ์การพัฒนาที่เลโซโทโดยมีข้อถกเถียงที่สำคัญว่า งานพัฒนานั้นไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่า "จักรกลแห่งการบิดเบือน" ที่กลบเกลื่อนบิดเบือน "ปัญหาการเมือง" ให้กลายเป็น "ปัญหาการพัฒนา" 

Ferguson เสนอว่าวาทกรรมการพัฒนาดังกล่าวทำให้ปัญหาความยากจน สังคมที่ไม่เป็นธรรมและภาวะไร้อำนาจของประชาชนแทนที่จะได้รับการแก้ไขในระดับโครงสร้างความสัมพันธ์เชิงอำนาจ กลับกลายเป็นว่าปัญหาทางการเมืองเหล่านี้ถูกตกแต่งเสียใหม่ (Redress) ให้กลายเป็น ปัญหาความล้าหลังทางการพัฒนาที่ต้องระดมความช่วยเหลือและผู้เชี่ยวชาญการพัฒนาจากประเทศต่างๆ เข้ามาโครงการพัฒนาชนบทในประเทศเลโซโท

ในการบรรยายพิเศษนี้ ท่านพูดในหัวข้อเกี่ยวข้องกับอนาคตของมานุษยวิทยา โดยท่านเสนอว่าอนาคตของมานุษยวิทยานั้นจะขึ้นอยู่กับว่ามานุษยวิทยาพิสูจน์ตนเองได้หรือไม่ว่าเป็นวิชาการที่มีความหมายในการสร้างสังคมที่ดีขึ้น 

เพราะหากมานุษยวิทยาดำรงอยู่ได้โดยไม่มีความหมายอะไรกับสังคมเลย ก็ไม่รู้จะมีอยู่ไปทำไม

การทำให้มานุษยวิทยามีความหมายต่อสังคมนั้นมีข้อจำกัดอยู่บ้างในแง่ที่ว่ามานุษยวิทยามักไม่ค่อยไปเที่ยวทำนายหรือพยากรณ์อนาคต มิหนำซ้ำนักมานุษยวิทยายังมักจะวิพากษ์วิจารณ์พวกที่วางแผนกะเกณฑ์ให้สังคมเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เช่น พวกวิศวกรรมทางสังคม (Social engineering) 

แต่แม้ว่าจะเป็นเช่นนั้น นักมานุษยวิทยาก็ย่อมต้องมีความคิดเห็นว่าสังคมที่พึงประสงค์เป็นอย่างไร 

Professor Ferguson ได้เสนอว่าสังคมที่เราอยากเห็นนั้นก็ไม่ได้แตกต่างไปจากความใฝ่ฝันของมนุษย์ทั่วไป คือเป็นสังคมที่เป็นธรรม ซึ่งหมายถึงการที่ประชาชนมีส่วนแบ่งในความมั่งคั่งของประเทศอย่างเป็นธรรมเสมอภาคกัน และในแง่นี้แนวคิดทางมานุษยวิทยาจึงมีส่วนสำคัญที่จะทำความเข้าใจเกี่ยวกับการมีส่วนแบ่งที่เป็นธรรม และเป็นที่มาของการพูดของท่านในเรื่อง Distributive politics ในวันนี้ 

ท่านเริ่มด้วยการแสดงความเป็นห่วงว่าในประเทศต่างๆ เวลาที่พูดถึงการแบ่งปันความมั่งคั่งของประเทศมักจะเกี่ยวข้องกับทรัพยากรต่างๆ เช่น ถ้าชาวนาทำนาและเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ เราก็คงยอมรับได้ว่าผลผลิตนั้นๆ เป็นของชาวนาที่ได้ลงแรงหว่านไถและเก็บเกี่ยวผลผลิตด้วยน้ำพักน้ำแรงของตน 

แต่ถ้าเกิดชาวนานั้นพบว่ามีน้ำมันดิบอยู่ใต้ผืนดินของตนและก็ทำการขุดเจาะจนได้น้ำมันขึ้นมาขาย มีรายได้เป็นร้อยเป็นพันล้าน เราก็จะมีปัญหาขึ้นมาทันทีว่าน้ำมันควรจะเป็นของใคร 

และสังคมส่วนใหญ่ก็จะถือว่าทรัพยากรเหล่านี้ควรจะเป็นของส่วนรวมมากกว่าของส่วนบุคคล แต่ในการที่จะนำมันมาเป็นของสังคมส่วนรวมนั้น เราก็มีอยู่หนทางเดียวก็คือนำมันมาเป็นของรัฐ 
ซึ่งไอ้ที่บอกว่าเป็นของรัฐนี่แหละที่มันเป็นปัญหา

เพราะรัฐที่ว่ามันเป็นนามธรรม แต่นามธรรมที่ว่ามันถูกดำเนินการโดยกลุ่มบุคคลที่เข้ามาใช้อำนาจแทนรัฐ และกลุ่มบุคคลเหล่านี้ก็มักจะเป็นพวกชนชั้นนำที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างผลประโยชน์ผูกขาด ไปๆ มาๆ ก็กลายเป็นว่าทรัพยากรของสังคมส่วนรวมก็มักถูกจัดสรรโดยกลุ่มชนชั้นนำ ส่วนแบ่งที่เป็นธรรมจึงกลายเป็นสิ่งที่ยากที่จะเป็นจริงได้

ปัญหาการแบ่งปันผลประโยชน์ให้เป็นธรรมในปัจจุบันมีปรากฏการณ์ที่แพร่ระบาดไปในหลายประเทศก็คือการให้เงินแก่ประชาชนโดยตรง (worldwide phenomenon of handing money to people) ไม่ว่าจะเป็นเงินช่วยเหลือผู้พิการ ผู้สูงอายุ คนจน (หรือในกรณีของประเทศไทยก็อย่างเช่น กองทุนหมู่บ้าน รถคันแรก บ้านหลังแรก เป็นต้น – อันนี้ผู้เขียนเติมเอง)

Prof. Ferguson ตั้งคำถามว่า หากปัญหาการพัฒนาคือความไม่เท่าเทียมกันในการได้มาซึ่งส่วนแบ่งความมั่งคั่งของชาติแล้ว เราจะมีวิธีคิดในเรื่องส่วนแบ่งที่เป็นธรรมอย่างไร ตรงนี้เองที่แนวคิดทางมานุษยวิทยาจะช่วยให้เห็นมิติต่างๆ ของการแบ่งปันในสังคมได้ โดย Prof. Ferguson อ้างอิงถึงแนวคิดเรื่อง social exchange และเรื่อง Gift economy 

แต่สิ่งที่ Prof. Ferguson สังเกตเห็นในสังคมต่างๆ โดยเฉพาะในอาฟริกานั้นการได้รับส่วนแบ่งที่เป็นธรรมนั้นอาจไม่สามารถนำเอาแนวคิดแบบ gift exchange มาอธิบายได้ 

Prof. Ferguson เล่าตัวอย่างว่าในบางประเทศนั้นมีการแจกเงินให้กับชาวบ้านอย่างกว้างขวาง โดยมีประชากรถึง 30% ที่ได้รับเงินสดสงเคราะห์ (Direct cash support) จากรัฐ โดยที่ประชาชนเหล่านี้อาจไม่ได้ทำอะไรเป็นการแลกเปลี่ยนเลย Social assistant program เหล่านี้มีลักษณะแบบ non-market system of distribution และอาจเข้าข่ายเป็นการจัดสรรส่วนแบ่งมากกว่าการแลกเปลี่ยนแบบที่เราเข้าใจกันในแบบ gift economy 

การจัดสรรส่วนแบ่งทางสังคมนั้น Prof. Ferguson ใช้คำว่า Sharing ในความหมายที่เปรียบเทียบกับการออกล่าสัตว์ในสังคมดั้งเดิมที่ผู้ออกล่าเมื่อได้เนื้อสัตว์กลับมาก็จะต้องแบ่งปันให้กับทุกๆ คนในเผ่า ไม่ว่าคนที่รับส่วนแบ่งนั้นจะมีส่วนช่วยเหลือในการออกล่าสัตว์นั้นหรือไม่ก็ตาม แต่โดยสถานะของผู้ร่วมเผ่าพันธุ์และเป็นญาติกันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ทุกคนจึงมีสิทธิที่จะได้รับส่วนแบ่งโดยชอบ ส่วนแบ่งที่ว่านี้เป็นสิทธิที่พึงได้ ซึ่ง J. Woodburn เรียกว่า Demand sharing

การแจกเงินให้กับประชาชนนี้มีผลทั้งต่อระบบเศรษฐกิจและระบบการเมือง โดยเฉพาะในแง่การเมืองแล้ว มันได้ทำให้ประชาชนตื่นตัวที่จะเรียกร้องสิทธิเสียงทางการเมืองของตนมากขึ้น เพราะการเมืองมีผลโดยตรงต่อผลประโยชน์ที่ประชาชนเองจะได้รับ 

Prof. Ferguson ตั้งข้อสังเกตว่าการแจกจ่ายเงินให้กับประชาชนนี้ แทนที่จะทำให้ประชาชนหลับไหลหรือลืมสิทธิทางการเมืองและเฝ้ารอการแจกเงิน ตรงกันข้าม มันกลับได้ทำให้ประชาชนตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้น เรียกว่า จะไม่ยอมสูญเสียสิทธินั้นไป ในแง่นี้มันไม่ได้เป็น generalized exchange แบบที่ Sahlin เคยเสนอไว้ 

ที่สำคัญ นอกเหนือจากมิติทางการเมืองแล้ว นโยบายดังกล่าวยังมีผลกระทบทางการเงินการคลังของประเทศด้วย โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดีเท่าที่ควร นโยบายที่มีการใช้จ่ายในลักษณะดังกล่าวก็อาจสร้างปัญหาได้

Prof. Ferguson ตั้งข้อสังเกตอีกว่า โดยที่ปรากฏการณ์การแจกจ่ายเงินให้กับประชาชนมีลักษณะที่แพร่หลายในสังคมต่างๆ มากมายจนกลายเป็นสิ่งที่รัฐทำนี้กลายเป็น State delivery ที่ถูกคาดหวังมากขึ้นเรื่อยๆ และที่สำคัญมันเป็นการแจกจ่ายกระจายความมั่งคั่งที่ไม่ได้เป็นไปตามตรรกะของตลาดและไม่ได้เป็นไปในลักษณะของขวัญหรือ Gift ในแบบที่มานุษยวิทยาเคยทำการศึกษาวิเคราะห์มาในสังคมการเมืองแบบดั้งเดิม มานุษยวิทยาจึงจำเป็นต้องสนใจการเมืองแบบใหม่ที่มีลักษณะที่เรียกว่า Distributive politics ให้มากขึ้น เพราะหน้าที่สำคัญของนักมานุษยวิทยาก็คือการเผยให้เห็นถึงปฏิบัติการของอำนาจที่แฝงเร้นอยู่ในเรื่องการกระจายความมั่งคั่งนี้ รวมทั้งพลวัตรของอำนาจแบบใหม่ที่ distributive politics นี้กำลังทำให้เกิดขึ้น
--------------------------------

หมายเหตุ 1. ผมสรุปจากความจำและการจดบันทึกสดระหว่างฟังบรรยาย หลับๆ ตื่นๆ บ้างเพราะง่วงนอนจากการอดนอนมาหลายคืน เพราะต้องอ่านและให้ความเห็นกับบทความ 9 บท ยังไงก็ตามไปอ่านบทความหลังจากที่ Professor James Ferguson ตีพิมพ์ก็แล้วกันนะครับ

หมายเหตุ 2. ที่อุตส่าห์สรุปยาวเหยียดมาได้ขนาดนี้ก็เพราะเห็นว่าบทวิเคราะห์และความเห็นของ Prof. Ferguson นี้สอดคล้องและอาจเป็นประโยชน์กับการวิเคราะห์การเมืองไทยในขณะนี้ไม่น้อยเลย

 



รวมบทความประกอบการประชุมวิชาการออนไลน์ “การดื้อยาต้านจุลชีพ: มิติทางสังคมของการใช้ยา”
ขอเชิญเข้าร่วมสัมมนาวิชาการ “การดื้อยาต้านจุลชีพ: มิติทางสังคมของการใช้ยา”
หนังสือจดหมายเหตุ COVID-19 รวมพลัง ร่วมใจ ฝ่าภัยวิกฤต (ระยะที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 30 มิถุนายน 2563)
สไลด์ประกอบการอบรม "โครงการวิถีชุมชน เครื่องมือ 7 ชิ้น"
ดูทั้งหมด »
E-Mail

รหัสผ่าน

จดจำการล๊อคอิน

สมัครสมาชิก ลืมรหัสผ่าน