รถเข็น (0 ชิ้น)
 
การประชุมเชิงปฏิบัติการนักวิจัยวัฒนธรรมความเสี่ยงสุขภาพ ครั้งที่ 1 : การพัฒนาคำถามวิจัย และระเบียบวิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ

เขียนโดย
ศุกร์ 04 พฤศจิกายน 2559 @ 08:51


CHR Studies Program Module 01: Social science & Research proposal development 

 


       สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ (สวสส.) สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “นักวิจัยวัฒนธรรมความเสี่ยงสุขภาพ ครั้งที่ 1: การพัฒนาคำถามวิจัย และระเบียบวิธีการวิจัยเชิงคุณภาพขึ้น” ในระหว่างวันที่ 24-29 ตุลาคม 2559 ณ โรงแรมสามพราน ริเวอร์ไซด์ อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม เพื่อให้นักวิจัยที่ผ่านการคัดเลือกเข้าหลักสูตร “นักวิจัยวัฒนธรรมความเสี่ยงสุขภาพ” จำนวน 24 คน ได้เรียนรู้แนวคิดทางสังคมศาสตร์และหลักการพื้นฐานของการวิจัยเชิงคุณภาพในการศึกษาพฤติกรรมเสี่ยงสุขภาพ 4 พฤติกรรม ได้แก่ การบริโภคแอลกอฮอล์ การใช้สารเสพติด การสูบบุหรี่และยาสูบ และพฤติกรรมการใช้รถใช้ถนน และได้สร้างเครือข่ายชุมชนวิชาการของผู้ที่สนใจศึกษามิติสังคมวัฒนธรรมของพฤติกรรมเสี่ยงสุขภาพร่วมกัน

       เนื้อหาวิชาการที่นักวิจัยทั้ง 24 คน ได้เรียนรู้ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ 1. แนวคิดทางสังคมศาสตร์ และ 2. หลักการเบื้องต้นในการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยระหว่างวันที่ 24-27 ตุลาคม เป็นการเรียนรู้เนื้อหาในส่วนแรก ทีให้นักวิจัยได้เรียนรู้ถึงความหมายของคำว่า “วัฒนธรรม” ที่นักสังคมศาสตร์ศึกษา รู้จักแนวคิด “มุมมองคนใน” (Emic view) หรือการทำความเข้าใจพฤติกรรมเสี่ยงสุขภาพจากจุดยืนและกรอบคิดของคนในท้องถิ่น และ “มุมมองคนนอก” (Etic view) โดยเฉพาะจากมุมมองของ “วิชาชีพ” (professional culture)แนวคิด “การจัดความสำคัญของความเสี่ยง” (bureaucracy of risks) ระหว่าง “ความเสี่ยงทางสังคม” (social risks) หรือความสัมพันธ์ทางสังคมกับผู้อื่นกับ “ความเสี่ยงสุขภาพ” (health risks) ได้เรียนรู้ว่าการเข้าใจเรื่องสุขภาพจากมุมมองคนในสัมพันธ์อย่างไรกับการออกมาตรการทางสุขภาพ (culture and health intervention)แนวคิด “อัตลักษณ์” (identity) ที่สัมพันธ์กับการมีพฤติกรรมเสี่ยงสุขภาพ ได้รู้จักการแบ่ง “กลุ่มสังคมย่อย” (sub-cultures, sub-groups) ด้วยเกณฑ์ทางวัฒนธรรม ได้เรียนรู้ความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมเสี่ยงสุขภาพกับ “มิติเพศสภาพ” (Gender) แนวคิด “เรื่องเล่าความเจ็บป่วย” (illness narratives) จากมุมมองคนใน ที่ทำให้เห็นพลังทางสังคมและเศรษฐศาสตร์การเมือง (political economy) ซึ่งส่งผลต่อการมีพฤติกรรมเสี่ยงสุขภาพหรือความเจ็บป่วยจากพฤติกรรมเสี่ยงสุขภาพที่ปรากฏในปัจจุบัน รวมถึงแนวคิด “การลดอันตราย” (harm reduction) ทั้งในเชิงนโยบายและในเชิงปฏิบัติการในชีวิตประจำวันที่ผู้คนใช้เพื่อลดอันตรายจากการมีพฤติกรรมเสี่ยงสุขภาพที่เลี่ยงไม่ได้
 


       ส่วนสองวันสุดท้าย หรือระหว่างวันที่ 28-29 ตุลาคมเป็นการเรียนรู้เนื้อหาส่วนที่สอง นักวิจัยได้เรียนรู้ธรรมชาติของการวิจัยเชิงคุณภาพ ความหมายและหลักการการเขียนที่ถูกต้องขององค์ประกอบต่างๆ ในการเขียนโครงร่างกายวิจัย เช่น หลักการและเหตุผล จุดประสงค์การวิจัย คำถามการวิจัย และการทบทวนวรรณกรรม นักวิจัยไม่เพียงเรียนรู้ความหมายและหลักการเหล่านี้ผ่านการฟังบรรยายจากวิทยากรเท่านั้น แต่ยังเรียนรู้ผ่านการถกเถียงแลกเปลี่ยนกับเพื่อนนักวิจัยที่สนใจประเด็นศึกษาเดียวกัน ด้วยการนำแนวคิดที่ได้จากการเรียนรู้ในสามวันแรก มาเชื่อมโยงกับประเด็นที่นักวิจัยต้องการทำและข้อมูลพื้นฐานจากประสบการณ์การทำงานของแต่ละคนมาแลกเปลี่ยนกัน การเรียนรู้ด้วยแบบฝึกหัดใบงาน รวมทั้งการเขียน “Concept note” เพื่อสังเคราะห์ข้อมูลทั้งหมดที่ได้จากการเรียนรู้ทั้ง 5 วัน ออกมาเป็นโครงร่างการวิจัยโดยคร่าว เพื่อนำเสนอและรับฟังข้อเสนอแนะจากวิทยากรและเพื่อนนักวิจัยในเช้าวันสุดท้าย

       ผลลัพธ์ที่ได้จากการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้มีด้วยกัน 4 ประการ ประการแรก สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพได้นักวิจัยที่มีความสนใจมิติสังคมวัฒนธรรมของพฤติกรรมเสี่ยงสุขภาพมาร่วมสร้างองค์ความรู้เรื่องนี้ไปพร้อมกับนักวิจัยประจำโครงการวัฒนธรรมกับความเสี่ยงสุขภาพ ประการที่สอง นักวิจัยวัฒนธรรมความเสี่ยงสุขภาพรู้จักแนวคิดทางสังคมศาสตร์สำหรับการศึกษาพฤติกรรมเสี่ยงสุขภาพ และมีทักษะพื้นฐานในการทำวิจัยเชิงคุณภาพ ประการที่สาม นักวิจัยวัฒนธรรมความเสี่ยงสุขภาพมีประเด็นการศึกษาของตนเองที่ชัดเจน และมีโครงร่างการวิจัยร่างแรก ประการที่สี่ นักวิจัยวัฒนธรรมความเสี่ยงสุขภาพได้สร้างเครือข่ายชุมชนวิชาการที่จะช่วยเหลือและเรียนรู้ร่วมกันทั้งในทางวิชาการและการทำงานต่อไปในอนาคต

       สำหรับการประชุมเชิงปฏิบัติการนักวิจัยวัฒนธรรมความเสี่ยงสุขภาพครั้งต่อไป ซึ่งเป็นหน่วยการเรียนรู้ที่ 2 จะจัดขึ้นในวันที่ 23-27 มกราคม 2560 นั้น จะเป็นการเรียนรู้การพัฒนาโจทย์วิจัยโดยนำผลลัพธ์จากการเรียนรู้ที่ได้ในหน่วยการเรียนรู้ที่ 1 และการเก็บข้อมูลพื้นฐานก่อนเข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งที่ 2 มาต่อยอดพัฒนาเป็นโจทย์วิจัยที่ชัดเจน

** ดาวน์โหลดสไลด์ประกอบการอบรม "10 ขั้นง่ายๆ วิจัยเชิงคุณภาพ"  >> CLICK
** ติดตามกิจกรรมของแผนงานวัฒนธรรมกับความเสี่ยงสุขภาพ >> Facebook: Culture and Health Risks 
 


รับสมัครเจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป จำนวน 1 อัตรา
ขอเชิญผู้ที่สนใจ เข้าร่วมฟัง Facebook Live เรื่อง Narratives for Knowledge Management เรื่องเล่าเพื่อการจัดการความรู้ในวิกฤตโรคระบาด
ขอเชิญชวนผู้ที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมวันครบรอบ 2 ปี หอจดหมายเหตุสาธารณสุขแห่งชาติ
ขอเชิญร่วมพิธีไหว้ครูหมอไทย ตระกูลแพทยานนท์ ประจำปี 2563
ดูทั้งหมด »
E-Mail

รหัสผ่าน

จดจำการล๊อคอิน

สมัครสมาชิก ลืมรหัสผ่าน