รถเข็น (0 ชิ้น)
 
โครงการเสียงสนามบิน

เขียนโดย
พฤหัส 06 พฤศจิกายน 2551 @ 16:24


การศึกษาผลกระทบของเสียงเครื่องบินจากสนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินดอนเมือง โดยความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่นและสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ สำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม คณะสถาปัตยกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาล้ยศรีนครินทรวิโรฒน และวิทยาลัยราชสุดา มหิดล

 

 

โครงการสำรวจคุณภาพชีวิตประชาชนรอบสนามบินในกรุงเทพมหานคร

(Quality of Life Study of Residents Around Airports in Bangkok)

ที่มาและความสำคัญของปัญหา

                เสียงเป็นปัจจัยหนึ่งที่มนุษย์ต้องสัมผัสในชีวิตประจำวันและมีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิต เนื่องจากเสียงเป็นสิ่งจำเป็นในการสื่อสารระหว่างมนุษย์ แต่การสัมผัสเสียงดังมากๆในระยะเวลานานๆ โดยเฉพาะเสียงดังจากการขึ้นลงของเครื่องบิน อาจก่อให้เกิดผลกระทบไม่พึงประสงค์ต่อสุขภาพ ซึ่งนอกจากมีผลกระทบต่อการได้ยินแล้ว การศึกษาวิจัยทางระบาดวิทยาพบความสัมพันธ์ระหว่างการสัมผัสเสียงของเครื่องบินกับผลกระทบต่อสุขภาพด้านอื่นๆด้วย

                การศึกษาของ Rosenlund และคณะ ในปีพ.ศ. 2544 พบว่าในกลุ่มประชากรที่มีอายุ เพศ การสูบบุหรี่ และการศึกษาคล้ายกัน ประชากรที่สัมผัสเสียงจากเครื่องบินที่ดังเกิน 55 เดซิเบล(เอ) จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดความดันโลหิตสูงเป็น 1.6 เท่าเทียบกับกลุ่มที่ไม่สัมผัส (ค่าความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 95เท่ากับ 1.0-2.5) และจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.8 เท่า ถ้าระดับเสียงเกิน 72 เดซิเบล(เอ) (1)

                การศึกษาของ Miyakita และคณะในปีพ.ศ.2545 พบว่าประชาชนที่อาศัยรอบฐานทัพอากาศ Kadena และ Futenna บนเกาะ Okinawa ประเทศญี่ปุ่น ได้รับผลกระทบทั้งด้านกายภาพและด้านจิตใจ ซึ่งผลกระทบเหล่านี้แปรผันตรงกับระดับเสียงที่สัมผัส (2)

                การศึกษาของ Franssen และคณะ ในปีพ.ศ.2547 พบความสัมพันธ์ระหว่างการสัมผัสเสียงจากเครื่องบินกับผลกระทบต่อสุขภาพทั่วไปของคนในชุมชน การใช้ยานอนหลับ และการใช้ยาโรคหัวใจ (3)                การศึกษาของ Matsui และคณะในปีพ.ศ. 2547 พบว่าการสัมผัสเสียงของเครื่องบินขณะอยู่บ้าน รอบสนามบิน Heathrow ประเทศอังกฤษ ทำให้เด็กนักเรียนระดับประถมศึกษาอาจมีความจำลดลง จากการประเมินด้วยแบบทดสอบด้านความจำ การอ่านหนังสือ ความจำระยะสั้น ความจำระยะยาว และสมาธิ (4)

                ในปัจจุบันประเทศไทยกำลังจะมีการเปิดใช้สนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นสนามบินแห่งใหม่ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการตรวจรับการก่อสร้างเป็นระยะสุดท้าย มีการระดมคนงานและเครื่องมือต่างๆเข้ามาก่อสร้างในสนามบินเป็นจำนวนมากเพื่อให้สร้างเสร็จทันกำหนด และได้ทำการทดสอบสนามบินโดยจัดให้มีเที่ยวบินขึ้นและลงจอดเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2548 และวันที่ 29 กรกฎาคม 2549 ซึ่งสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ทำให้รัฐบาลไทยคาดว่าจะเปิดใช้สนามบินแห่งใหม่ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2549นี้

                เมื่อมีการเปิดใช้อย่างเป็นทางการจะมีเที่ยวบินระหว่างประเทศบินขึ้นลงจากสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีเที่ยวบินขึ้นลงมากกว่า 100 เที่ยวในแต่ละชั่วโมงที่สนามบินสุวรรณภูมิ ขณะที่สนามบินดอนเมืองคงเหลือแต่การให้บริการเช่าเหมาลำ ซึ่งการปิดการให้บริการเที่ยวบินระหว่างประเทศของสนามบินดอนเมืองนี้ ทำให้น่าสนใจที่จะศึกษาว่าผลกระทบต่อสุขภาพลดลงหรือไม่ในกลุ่มประชากรที่สัมผัสเสียงดังในอดีต ดังนั้นช่วงเวลานี้จึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมกับการศึกษาผลกระทบต่อสุขภาพจากเสียงเครื่องบิน ของคนที่อยู่อาศัยรอบบริเวณสนามบินเปรียบเทียบระหว่างก่อนและหลังการเปิดใช้สนามบิน

                นักวิชาการจากกระทรวงสาธารณสุข  สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒและมหาวิทยาลัยมหิดล  จึงได้ร่วมมือกับนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ทำการสำรวจคุณภาพชีวิตของประชาชนรอบสนามบิน อันจะทำให้เกิดข้อมูลทางวิชาการที่จะผลักดันไปสู่นโยบายที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบจากเสียงสนามบินของประเทศไทยต่อไป

วัตถุประสงค์ของการศึกษา

1. วัตถุประสงค์ทั่วไป

                เพื่อศึกษาผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตจากการสัมผัสเสียงเครื่องบินของประชาชนที่พักอาศัยรอบสนามบินนานาชาติดอนเมืองและสุวรรณภูมิ  

2. วัตถุประสงค์เฉพาะ

                2.1  เพื่อศึกษาระดับความดังของเสียงเครื่องบินที่ประชาชนต้องสัมผัส

                2.2  เพื่อประเมินผลกระทบจากการสัมผัสเสียงเครื่องบินต่อภาวะสุขภาพโดยทั่วไป คุณภาพชีวิตและความจำในเด็กนักเรียน

                2.3           เพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงประจักษ์สำหรับการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ

รูปแบบการศึกษา

การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาเชิงปริมาณ แบบ multiple cross sectional และการศึกษาเชิงคุณภาพ

ขั้นตอนและวิธีการศึกษา

1.              ระยะเวลาการศึกษา

การศึกษาครั้งนี้มีระยะเวลาการศึกษา  36 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2549 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ.2552   

2. พื้นที่ที่ใช้ในการศึกษา

                เลือกพื้นที่เพื่อทำการศึกษาตามแผนที่เสียง (noise contour map) จาก ฝ่ายสิ่งแวดล้อม บริษัท       ท่าอากาศยานไทย จำกัด ดังตัวอย่างในภาคผนวกที่ 1 โดยเลือกพื้นที่ที่คาดว่าจะมีระดับเสียงดังจากสนามบินมากกว่า 40 (NEF > 40) จำนวน 1 พื้นที่ทางด้านเหนือของสนามบินสุวรรณภูมิ และจำนวน 2 พื้นที่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือและทิศตะวันตกเฉียงใต้ของสนามบินดอนเมือง ทั้งนี้ จะต้องซ้อนทับแผนที่เสียงนี้กับแผนที่สิ่งก่อสร้างและที่พักอาศัยในชุมชน ซึ่งจะได้จากกองสำรวจและแผนที่ กรุงเทพมหานคร เมื่อเลือกพื้นที่ได้แล้ว ทีมวิจัยจะต้องทำการสำรวจพื้นที่เบื้องต้นเพื่อประเมินปัจจัยรบกวนของเสียงจากแหล่งอื่นๆ เช่น จากการจราจร จากสถานบันเทิงย่านใกล้เคียง เป็นต้น

3. ประชากรที่จะศึกษา

                ประชากรที่จะศึกษา คือ ประชาชนที่พักอาศัยรอบสนามบิน โดยมีเกณฑ์การคัดเลือก (inclusion criteria) ดังต่อไปนี้ คือ

        3.1 เด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ณ โรงเรียนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ NEF > 40 และไม่ได้ขาดเรียน

        3.2 ผู้ใหญ่อายุระหว่าง 25 – 60 ปีที่เป็นผู้ปกครองของเด็กในข้อ 3.1 และพักอาศัยอยู่ที่เดียวกัน

        3.3 ผู้ใหญ่อายุระหว่าง 25 – 60 ปี ที่พักอาศัยในพื้นที่ NEF > 40 สามารถอ่านภาษาไทยออก เขียน                   ภาษาไทยได้และยินยอมเข้าร่วมการศึกษา

4. ขนาดตัวอย่างที่ศึกษา

                เนื่องจากยังไม่มีการศึกษาวิจัยลักษณะนี้ในประเทศไทยมาก่อน ทีมวิจัยจึงใช้ฐานการคำนวณขนาดตัวอย่างจากการศึกษาวิจัยของ Miyakita และคณะในปีพ.ศ.2545 (2) ดังต่อไปนี้ คือ

4.1                 ขนาดประชากรเพื่อทำการศึกษาผลกระทบต่อสุขภาพทั่วไปและคุณภาพชีวิต ที่เป็นผู้ปกครองเด็กนักเรียน จำนวน 600 คน และผู้อาศัยในพื้นที่คาดว่าเสียงดัง 3 พื้นที่ จำนวนพื้นที่ละ 200 คน รวม 600 คน รวมเป็นประชากรผู้ใหญ่ทั้งสิ้น 1,200 คน

4.2                 ขนาดประชากรเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 เพื่อทำการศึกษาความจำ แยกเป็นจำนวนเด็กที่สัมผัสเสียงสนามบิน 300 คนและกลุ่มเปรียบเทียบ 300 คน รวมทั้งสิ้น 600 คน

5. การประเมินการสัมผัสเสียง

                ทีมศึกษาจะทำการตรวจวัดระดับเสียงสนามบินจำนวน 12 จุด คือ

5.1     3 จุด ณ โรงเรียนประถมศึกษาที่อยู่ใกล้สนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ทำการศึกษาความจำในเด็กนักเรียน

5.2     สุ่มเลือก 3 จุดจากสถานีตรวจวัดของบริษัทท่าอากาศยานไทยจำกัด จำนวน 13 แห่ง รอบสนามบินสุวรรณภูมิ ที่อยู่ใกล้ชุมชนและไม่ซ้ำกับ 3 จุดในข้อ 5.1

5.3     3 จุด ณ โรงเรียนประถมศึกษาที่อยู่ใกล้สนามบินดอนเมือง ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ทำการศึกษาความจำในเด็กนักเรียน

5.4     สุ่มเลือก 3 จุดจากสถานีตรวจวัดของบริษัทท่าอากาศยานไทยจำกัด จำนวน 11 แห่ง รอบสนามบินสุวรรณภูมิ ที่อยู่ใกล้ชุมชนและไม่ซ้ำกับ 3 จุดในข้อ 5.3

                ทั้งนี้ จะทำการตรวจวัดแต่ละจุดอย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมงเป็นเวลา 2 วัน โดยใช้เครื่องตรวจวัดเสียงรุ่น LA-5560 ผลิตโดยบริษัท Ono Sokki ประเทศญี่ปุ่น จำนวน 1 เครื่อง โดยมีการเทียบค่า (calibrate) สำหรับการตรวจวัดทุกครั้ง และนำค่าการตรวจวัดที่ได้ไปคำนวณตัวแปรเสียง (Leq และ Ldn) ต่อไป

 

6. การประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ

                6.1 สถานะทางสุขภาพโดยทั่วไป คุณภาพชีวิต และการรับรู้เสียง โดยใช้การศึกษาเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ ดังต่อไปนี้

                6.1.1 semi-quantitative method ใช้แบบสอบถามที่ประชากรศึกษาตอบแบบสอบถามด้วยตนเอง (self-administered) ดังภาคผนวก แบ่งเป็น 4 ส่วนดังต่อไปนี้ คือ

·        คำถามทั่วไป เช่น เพศ อายุ ระยะเวลาพักอาศัยในพื้นที่

·        General Health Questionnaire-28 (GHQ-28) ฉบับภาษาไทยของกรมสุขภาพจิต เพื่อศึกษาอาการทางกาย (Somatic Symptoms) อาการวิตกกังวลและการนอนไม่หลับ (Anxiety and insomnia) ความบกพร่องทางสังคม (Social dysfunction)  และอาการซึมเศร้าที่รุนแรง (Severe depression)

·        แบบสอบถามคุณภาพชีวิต (Quality of Life) ฉบับภาษาไทยขององค์การอนามัยโลก

·        แบบสอบถามความไวต่อการสัมผัสเสียงและการถูกรบกวนจากเสียงดัง ซึ่งปรับปรุงจากแบบสำรวจคุณภาพชีวิตประชาชนรอบสนามบินนาริตะ ของ Hiramatsu และคณะ ในปี พ.ศ.2548 (5) โดยทำการทดสอบค่าความเชื่อมั่นก่อนทำการศึกษา  

                6.1.2 qualitative method ศึกษาจากกลุ่มเป้าหมายประมาณ 6-8 คนจากชุมชนในพื้นที่การศึกษา 3 แห่ง โดยผู้ที่ถูกเลือก ได้แก่ ผู้นำชุมชน นักเรียน โดยวิธีการสัมภาษณ์ (In-depth Interview) การทำประวัติชีวิต (Biographical Study) และการสนทนากลุ่ม (Focus Group Interview)

                6.2  การทดสอบความจำ  ทีมศึกษาทำการประเมินความจำเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ด้วยเครื่องมือที่ดัดแปลงจากแบบประเมินความจำภาษาญี่ปุ่นของ Hiramatsu และคณะในปี พ.ศ.2548 (5)

 

การวิเคราะห์ข้อมูล

                บันทึก ตรวจสอบความครบถ้วน ถูกต้องของข้อมูล และวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรม Epi info version 3.2.2 ใน 2 ลักษณะ

1.        สถิติเชิงพรรณา  โดยข้อมูลเชิงคุณภาพ นำเสนอในรูปร้อยละ ข้อมูลเชิงปริมาณ นำเสนอด้วยค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน

2.         สถิติเชิงวิเคราะห์ ตามความเหมาะสมของข้อมูล เช่น เปรียบเทียบข้อมูลก่อนและหลังเปิดใช้สนามบิน เช่น paired t- test นอกจากนี้ยังมีการใช้ความถดถอย (regression)เพื่อควบคุมปัจจัยรบกวนต่างๆ

เอกสารอ้างอิง

References

M Rosenlund, N Berglind, G Pershagen et al.  Increased prevalence of hypertension in a population exposed to aircraft noise.  Occup. Environ. Med., Dec 2001; 58: 769 - 773.

Miyakita T, Matsui T, Ito A et al.  Population-Based Questionnaire Survey on Health Effects of Aircraft Noise on Residents Living Around U.S. Airfields in The Ryukyus – Part I : An Analysis of 12 Scale Scores.  Journal of Sound and Vibration, 2002; 250(1): 129 – 137.

E A M Franssen, C M A G van Wiechen, N J D Nagelkerke, and E Lebret. Aircraft noise around a large international airport and its impact on general health and medication use.  Occup. Environ. Med., May 2004; 61: 405 - 413.

Matsui T, Stansfeld S, Haines M and Head J.  Children’s Cognition and Aircraft Noise Exposure at Home – The West London Schools Study.  Noise & Health., July 2004; 25: 49 – 58.

 

 



โครงการและแผนงานต่างๆของ สวสส.
๑ คนยืนหยัด ๑ ศตวรรษ เสม พริ้งพวงแก้ว
เอกสารและสื่อ งานมหกรรมสุขภาพชุมชน 2552
โครงการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การใช้เครื่องมือวิถีชุมชน
ดูทั้งหมด »
E-Mail

รหัสผ่าน

จดจำการล๊อคอิน

สมัครสมาชิก ลืมรหัสผ่าน