รถเข็น (0 ชิ้น)
 
พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ตัวอาคาร การตกแต่งภายใน และภูมิสถาปัตย์ สถานบริการสุขภาพปฐมภูมิ

เขียนโดย
จันทร์ 08 ธันวาคม 2551 @ 09:05


         เพื่อให้ได้แนวทางการปรับปรุง เปลี่ยนแปลง หรือต่อเติมตัวอาคารของสถานบริการสุขภาพปฐมภูมิ หรือโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ รูปแบบเดิมที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน การตกแต่งภายในตัวอาคาร การปรับปรุงภูมิสถาปัตย์ เพื่อเอื้อต่อคุณภาพชีวิต รูปแบบการทำงานของคนทำงาน การรับบริการ และได้แบบอาคารสถานบริการสุขภาพปฐมภูมิใหม่ที่สอดคล้องกับแนวคิดการให้บริการสุขภาพแบบองค์รวมและระบบนิเวศวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่น


       โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ตัวอาคาร การตกแต่งภายใน และภูมิสถาปัตย์ สถานบริการสุขภาพปฐมภูมิ

 

หลักการและเหตุผล
       ปัจจุบันสถานบริการสุขภาพปฐมภูมิ หรือศูนย์สุขภาพชุมชนมีอยู่จำนวนประมาณกว่าหนึ่งหมื่นแห่ง แบบแปลนที่ใช้ในการก่อสร้างอาคารสถานบริการสุขภาพเป็นแบบมาตรฐานเดียวซึ่งใช้มาตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๒๕ ต่อมาปรับปรุงใหม่อีกครั้ง เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๖ ทำให้มีข้อจำกัดในการใช้ประโยชน์อยู่ไม่น้อย ด้วยเหตุผล ๓ ประการ คือ (๑) การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่มีจำนวนประชากรผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น การใช้ประโยชน์จากสถานีอนามัยเดิม ซึ่งเป็นการก่อสร้างที่ใช้พื้นที่ชั้นบนในการให้บริการประชาชน ทำให้การเดินขึ้น ลงเกิดความยากลำบากต่อผู้รับบริการ (๒) แบบแผนความเจ็บป่วยและโรคที่เปลี่ยนแปลงไป การเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ผู้ป่วยจำเป็นต้องดูแลรักษาต่อเนื่องและผสมผสาน และ(๓)แนวคิดการจัดบริการสุขภาพที่แตกต่างไปจากเดิม ซึ่งเน้นหัวใจของระบบบริการปฐมภูมิที่การดูแลอย่างเป็นองค์รวมครบทั้ง ๔ มิติ คือ กาย ใจ สังคม และจิตวิญญาณ การดูแลทั้งครอบครัวและชุมชน ตลอดจนการดูแลที่เข้าใจมิติทางสังคมวัฒนธรรมของท้องถิ่น ด้วยเหตุผลทั้ง ๓ ประการข้างต้น ทำให้แบบแปลนและการออกแบบอาคารสถานบริการสุขภาพรูปแบบเดิม ไม่สอดคล้องกับบริบทและสถานการณ์ทิศทางระบบสุขภาพในปัจจุบัน
        การออกแบบระบบบริการสุขภาพ (Health Care Design) ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะประเด็นเรื่องการพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการ การพัฒนาระบบการให้บริการ หรือการพัฒนาทักษะเจ้าหน้าที่ หากการออกแบบตัวอาคาร การตกแต่งภายใน และภูมิสถาปัตย์ที่สอดคล้องกับแนวคิดสำคัญของระบบบริการสุขภาพก็มีความสำคัญ เพราะเป็นศาสตร์แขนงใหม่ที่ต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจและพัฒนาองค์ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญในสาขาที่เกี่ยวข้องทั้งในเรื่องของสถาปัตยกรรม และการเยียยวยาฟื้นฟูสุขภาพของผู้ป่วย
         การพัฒนาและออกแบบปรับปรุงตัวอาคารสถานบริการสุขภาพ พื้นที่ใช้สอย และภูมิสถาปัตย์ ทั้งภายในและภายนอกตัวอาคาร ให้เอื้อต่อการทำกิจกรรมด้านการดูแลสุขภาพที่มีลักษณะครอบคลุมทั้งการดูแลรักษาพยาบาล การส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค และการฟื้นฟูสภาพ ที่สำคัญเอื้อต่อการดูแลสุขภาพของคนทั้งครอบครัว (Family oriented) ในเวลาที่มาใช้บริการที่หน่วยบริการปฐมภูมิ เป็นการเสริมสร้างเอกลักษณ์ของระบบบริการปฐมภูมิที่สำคัญยิ่ง สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ ตระหนักเห็นความสำคัญ จึงได้จัดทำโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ตัวอาคาร การตกแต่งภายใน และภูมิสถาปัตย์ สถานบริการสุขภาพปฐมภูมิขึ้น เพื่อให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ และศาสตร์แขนงใหม่ด้านนี้ รวมทั้งพัฒนาและสร้างชุมชนนักวิชาการที่สนใจประเด็นดังกล่าวต่อไป
      

วัตถุประสงค์
       ๑. เพื่อให้ได้ตัวแบบอาคารสถานบริการสุขภาพปฐมภูมิใหม่ที่สอดคล้องกับแนวคิดการให้บริการสุขภาพแบบองค์รวมและระบบนิเวศวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่น
       ๒. เพื่อให้ได้แนวทางการปรับปรุง เปลี่ยนแปลง หรือต่อเติม ตัวอาคารของสถานบริการสุขภาพปฐมภูมิ หรือโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ รูปแบบเดิมที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน
       ๓. เพื่อให้ได้แนวทางการตกแต่งภายในตัวอาคาร การปรับปรุงภูมิสถาปัตย์ เพื่อเอื้อต่อคุณภาพชีวิต รูปแบบการทำงานของคนทำงาน และเอื้อต่อการรับบริการของผู้มาใช้บริการ


ระยะเวลาดำเนินการ

      สิงหาคม ๒๕๕๑ – สิงหาคม ๒๕๕๒


กิจกรรมการดำเนินงาน

      เพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ของโครงการได้กำหนดกิจกรรม ออกเป็น ๓ ขั้นตอนหลัก ดังนี้
      ขั้นตอนที่ ๑ ทบทวนองค์ความรู้
         ๑. จัดตั้งคณะทำงานซึ่งประกอบด้วยฝ่ายจัดการ/ ประสานงาน และฝ่ายวิชาการ ทำหน้าที่ดูแลรับผิดชอบการดำเนินงานโครงการให้เป็นไปตามแผนกิจกรรม โดยให้มีคณะที่ปรึกษาทางวิชาการทำหน้าที่ให้ข้อคิดเห็นและประเมิน ทบทวน (Review) ผลการศึกษาต่าง ๆ
         ๒. ทำการทบทวนองค์ความรู้ (Review) วิเคราะห์วรรณกรรม แนวคิด และเอกสารที่เกี่ยวข้อง เพื่อประเมินสถานะ และประเด็นการศึกษาวิจัย
         ๓. จัดประชุมวิชาการประเด็นการศึกษาวิจัย แนวคิดทฤษฎีสำคัญ โดยเบื้องต้นได้กำหนดประเด็นที่จะเสวนากันประมาณ ๓ ประเด็น มีการร่างข้อเสนอ และนำเสนอร่างดังกล่าวให้นักวิชาการที่สนใจด้านนี้ ให้ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะ
         ๔. สรุปผลการศึกษา และข้อเสนอ ที่ชี้ทิศทางการลงทุนในเรื่องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ตัวอาคาร การตกแต่งภายใน และภูมิสถาปัตย์ สถานบริการสุขภาพปฐมภูมิ
         ๕. จัดพิมพ์ต้นฉบับสำหรับการเผยแพร่และสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง 
      ขั้นตอนที่ ๒ ดำเนินการออกแบบ
         ๑. จัดตั้งคณะกรรมการกำหนดเกณฑ์และพิจารณาการตัดสิน ประกอบด้วยบุคลากรจากหลายฝ่าย ได้แก่
               ๑) นายกสมาคมสถาปนิกสยาม
               ๒) เลขาธิการสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย
               ๓) ศาสตราจารย์ ดร.สุนทร บุญญาธิการ
               ๔) ศาสตราจารย์กิตติคุณเดชา บุญค้ำ
               ๕) อาจารย์ธีรพล นิยม ผู้แทนจากสถาบันอาศรมศิลป์
               ๖) อาจารย์กรรณิการ์ รัตนปรีดากุล
               ๗) นายแพทย์ทวีเกียรติ  บุญยไพศาลเจริญ 
               ๘) ผู้แทนสถาปนิกจากกองแบบแผน กระทรวงสาธารณสุข จำนวน ๒ ท่าน
               ๙) นายแพทย์ยงยุทธ  พงษ์สุภาพ 
             ๑๐) นายแพทย์โกมาตร  จึงเสถียรทรัพย์
          ๒. จัดประชุมคณะกรรมการกำหนดเกณฑ์และเงื่อนไขการให้รางวัล พร้อมทั้งมีการแถลงข่าว แก่สื่อมวลชน เพื่อเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ จำนวน ๑ ครั้ง
          ๓. ประสานติดต่ออาจารย์คณะสถาปัตยกรรม จากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วประเทศ ดังเช่นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยรังสิต สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และอาศรมศิลป์ เป็นต้น เพื่อเข้าร่วมโครงการ
          ๔. จัดประชุมปฏิบัติการทางวิชาการเพื่อพัฒนากรอบแนวคิดหลักการสำคัญและชี้แจงโครงการ ให้แก่อาจารย์ นิสิต นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่เข้าร่วมโครงการ และผู้ใช้ประโยชน์จากสถานบริการสุขภาพปฐมภูมิ โดยครอบคลุมรายละเอียดประเด็นการศึกษา ดังนี้
                * การสร้างวิสัยทัศน์ว่าถ้าจะสร้างตัวอาคารใหม่ควรมีรูปแบบตัวอาคารเป็นอย่างไร ตัวแบบอาคารนี้จะสอดคล้องกับแนวคิดการให้บริการสุขภาพแบบองค์รวมและระบบนิเวศวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่นอย่างไร
                * ตัวอาคารของสถานบริการสุขภาพปฐมภูมิ หรือโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ในปัจจุบัน หากจะมีการปรับปรุง เปลี่ยนแปลง หรือต่อเติม ควรจะมีแนวทางอย่างไร และอยู่ภายใต้ฐานคิดอะไร
                * การตกแต่งภายในตัวอาคาร การปรับปรุงภูมิสถาปัตย์ เพื่อเอื้อต่อคุณภาพชีวิต รูปแบบการทำงานของคนทำงาน และเอื้อต่อการรับบริการของผู้มาใช้บริการ ควรมีแนวทางอย่างไร และอยู่ภายใต้ฐานคิดอะไร ที่สอดคล้องไปตามระบบนิเวศวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่น
          ๕. อาจารย์และนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ ปฏิบัติโครงการออกแบบสถานบริการสุขภาพปฐมภูมิ โดยให้แบบ (Model) อยู่ภายใต้เงื่อนไขตามเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนดไว้
          ๖. อาจารย์และนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการส่งผลงานการออกแบบที่ผ่านการคัดเลือกจากอาจารย์ที่ปรึกษาแต่ละสถาบัน มาให้คณะกรรมการพิจารณา จากนั้นนำแบบสถาปัตยกรรมดังกล่าวไปพัฒนา (Develop) ต่อ จนได้แบบตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ พร้อมทั้งส่งแบบ (Model) เพื่อให้คณะกรรมการพิจารณตัดสิน
          ๗. จัดประชุมคณะกรรมการพิจารณาตัดสินรอบสุดท้าย และมอบรางวัล โดยผู้ที่ผ่านการคัดเลือกและพัฒนา Project มานำเสนอผลงาน เพื่อให้กรรมการพิจารณาตัดสิน
      ขั้นตอนที่ ๓ การจัดแสดงนิทรรศการ (Exhibition)
          ๑. มหาวิทยาลัย(อาจารย์และนักศึกษา)ที่ชนะการประกวดได้รับรางวัลเกียรติยศ นำแบบที่พัฒนาแล้ว ไปพัฒนาเป็นแบบก่อสร้าง เพื่อการนำไปจัดแสดงนิทรรศการ (Exhibition) ในงาน “Primary Care Symposium & Expo”
          ๒. ผู้ชนะประกวดรางวัลเกียรติยศ ทำการก่อสร้างสถาปัตยกรรมสถานีอนามัยใหม่ในทศวรรษหน้า ตามแบบที่ได้กำหนดไว้ ในงาน “Community Health & Primary Care Expo 2009” ระหว่างวันที่ ๑๘ - ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒


งบประมาณ
ดำเนินการตลอดโครงการ ๔,๐๐๐,๐๐๐ บาท (สี่ล้านบาทถ้วน)


หน่วยงานที่รับผิดชอบ
       สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์
       สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข


ผลที่คาดว่าจะได้รับ

       ๑. ได้ตัวแบบอาคารสถานบริการสุขภาพปฐมภูมิใหม่ที่สอดคล้องกับแนวคิดสำคัญการให้บริการสุขภาพแบบองค์รวมและระบบนิเวศวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่น
       ๒. ได้แนวทางและตัวแบบการปรับปรุง เปลี่ยนแปลง หรือต่อเติม ตัวอาคารของสถานบริการสุขภาพปฐมภูมิ หรือโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ รูปแบบเดิมในปัจจุบัน
       ๓. ได้แนวทางการตกแต่งภายในตัวอาคาร การปรับปรุงภูมิสถาปัตย์ เพื่อเอื้อต่อคุณภาพชีวิต รูปแบบการทำงานของคนทำงาน และเอื้อต่อการรับบริการของผู้มาใช้บริการ และสอดคล้องไปตามระบบนิเวศวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่น



โครงการและแผนงานต่างๆของ สวสส.
๑ คนยืนหยัด ๑ ศตวรรษ เสม พริ้งพวงแก้ว
เอกสารและสื่อ งานมหกรรมสุขภาพชุมชน 2552
โครงการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การใช้เครื่องมือวิถีชุมชน
ดูทั้งหมด »
 

 สมโชค สกุลส่องบุญศิ


สมาชิกทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 1 Re:ขอแบบแปลนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ตัวอาคาร การตกแต่งภายใน และภูมิสถาปัตย์ สถานบริการสุขภาพปฐมภูมิ
แบบแปลนสถานีอนามัยตำบลบางสัก อ.กันตัง จ.ตรัง เป็นอาคารแบบแปลนเลขที่ 3803(ต)/2526 ได้มีการต่อเติมชั้นล่างแล้ว แต่ยังต้องการเพิ่มพื้นที่ให้บริการเพื่อรองรับ รพสต. มีแบบแปลนใดบ้างที่เหมาะสมสำหรับการต่อเติมสถานีอนามัย

ผู้โพสต์ : สมโชค สกุลส่องบุญศิ [Wed, 16 Sep 2009 16:58 118.173.130.95]

 nikorn


สมาชิกทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 2 Re: พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ตัวอาคาร การตกแต่งภายใน และภูมิสถาปัตย์ สถานบริการสุขภาพปฐมภูมิ
ด้วยทาง รพ.สต.ที่ทำงานอยู่นั้นต้องการขยาย/ต่อเติมอาคาร ด้วยพื้นที่อันจำกัด แต่มีผู้มารับบริการจำนวนมาก ทีมงานอยากขยายพื้นที่ อยากได้ส่วนต่อขยายที่ดูทันสมัย ได้พื้นที่ใช้สอยเยอะๆครับ โดยจะขอใช้เงินบำรุงของ สอ.เอง แต่ไม่รู้จะไปหาช่างออกแบบ ตกแต่งที่ไหน เลยลองติดต่อทางช่องทางนี้ดูครับ...เห็นเคยจัดประกวดแล้วผลงานมีการต่อยอดหรือป่าวครับ มีช่างหรือบริษัทไหนที่รับต่อเติม ตกแต่งภายใน รบกวนแนะนำด้วยครับอย่างด่วน!!!!!!!!!!!
ผู้โพสต์ : nikorn [Thu, 02 Jun 2011 15:14 125.27.235.73]
 
หน้า : 1
E-Mail

รหัสผ่าน

จดจำการล๊อคอิน

สมัครสมาชิก ลืมรหัสผ่าน