รถเข็น (0 ชิ้น)
 
สรุปโครงการเรียนรู้อยู่กับภัยพิบัติ ปีที่ 2

เขียนโดย
พฤหัส 30 สิงหาคม 2561 @ 03:40


 การรับมือภัยพิบัติจำเป็นต้องอาศัยชุมชนที่มีคงามเข้มแข็งและมีความพร้อมในการเผชิญกับภัยที่เกิดขึ้น ความเข้มแข็งดังกล่าวมาจากการเข้าใจพื้นฐานทางนิเวศวัฒนธรรมของชุมชน การวิจัยเรื่องภัยพิบัติชุมชนนี้มุ่งเน้นแสดงให้เห็นถึงมิติที่เชื่อมโยงกันของระบบเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และระบบนิเวศที่มีต่อความเสี่ยงและแนวทางการรับมือภัยพิบัติในระดับชุมชน

       โครงการเรียนรู้อยู่กับภัยพิบัติ: นิเวศวัฒนธรรม สื่อ รัฐ กับพลวัตชุมชน (ปีที่2)

 

       สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ ดำเนินการโครงการเรียนรู้อยู่กับภัยพิบัติ: นิเวศวัฒนธรรม สื่อ รัฐ กับพลวัตชุมชน (ปีที่2) มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประสบการณ์และปฏิกิริยาชุมชนต่อภัยพิบัติและกระบวนการบรรเทาสาธารณะภัย ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการเกิดภัยพิบัติในแต่ละบริบทนิเวศวัฒนธรรมท้องถิ่น รวมถึงเปรียบเทียบแบบแผน ลักษณะ เงื่อนไขและผลที่เกิดตามมา ต่อการรับมือขณะที่ชุมชนเผชิญกับภัยพิบัติและวิเคราะห์ประเมินกระบวนการเรียนรู้จากประสบการณ์รับมือภัยพิบัติ การเรียนรู้จากสื่อและมาตรการของรัฐและการทำงานกับองค์กรภายนอกเพื่อพัฒนาข้อเสนอและรูปแบบ (Model) เพื่อเสริมศักยภาพชุมชนในการจัดการภัยพิบัติจากประสบการณ์ชุมชน การวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน ของมาตรการเสริมศักยภาพชุมชนโดยดำเนินการตั้งแต่เดือนตุลาคม 2559 และขยายเวลาดำเนินการถึงเดือนมีนาคม 2561 

       การศึกษาแบบผสมผสานวิทยาการแบบสหสาขา (Interdisciplinary approach) ทั้งด้านสาธารณสุข ระบาดวิทยา สังคมวิทยา มานุษยวิทยา และด้านสังคมสงเคราะห์ ศึกษาเชิงคุณภาพใช้วิธีการแบบชาติพันธุ์วรรณนา จากการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview) ผสมผสานกับวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action Research) สนทนากลุ่ม (Focus Group) และเปิดให้เครือข่ายพื้นที่ชุมชนร่วมศึกษาวิจัย เพื่อค้นหาบริบทความสัมพันธ์ภายในบริบทนิเวศวัฒนธรรมชุมชน ทั้งจากปรากฎการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้น ปฏิกิริยาการรับมือของชุมชนท้องถิ่น ศักยภาพและทุนทางสังคมต่อการรับมือภัยพิบัติ เพื่อนำมาพัฒนาฐานข้อมูลนิเวศวัฒนธรรมชุมชน (Community Cultural Ecology Profile) และวิเคราะห์รูปแบบการจัดการภัยพิบัติ 

       ปรากฎการณ์ “ภัยธรรมชาติ” ส่งผลกระทบต่อชีวิตทางสังคมที่ไม่ได้เกิดจากปัจจัยทางธรรมชาติเท่านั้น แต่ยังมีบริบททางสังคมและวัฒนธรรมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย การรับรู้ในเรื่องความเสี่ยงของกลุ่มต่างๆ ในสังคมที่มีส่วนทำให้ภัยพิบัติเกิดขึ้นหรือได้รับการแก้ไขแตกต่างกันไป ความเป็นชุมชนที่มีทุนและศักยภาพแตกต่างกัน ตลอดจนนโยบายของภาครัฐที่มีส่วนสำคัญในการให้นิยามความหมายของภัยพิบัติ การศึกษานิเวศวัฒนธรรม 4 กรณีศึกษา (ปีที่ 2) คือ ไฟป่า จังหวัดชัยภูมิ ภัยแล้ง จังหวัดขอนแก่น น้ำป่า-ดินโคลนถล่ม และแผ่นดินไหว จังหวัดเชียงราย สะท้อนความจำเป็นของกระบวนการเรียนรู้ชุมชนที่เกิดจากการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมท้องถิ่น (local culture) กับแรงขับดันจากภายนอก (external forces) ซึ่งมีทั้งระบบความรู้ของผู้เชี่ยวชาญ (professional expertise) อำนาจรัฐและวัฒนธรรมราชการ (state authority and bureaucratic culture) การเปลี่ยนไปของภูมิทัศน์สื่อ (media landscape) และเงื่อนไขใหม่ๆ ในทางเศรษฐกิจ ปัจจัยเหล่านี้ได้เข้ามามีบทบาทในการกำหนดพฤติกรรมและการรับมือกับภัยพิบัติของแต่ละชุมชน 

       กรณีศึกษาแผ่นดินไหวและน้ำป่า-ดินโคลนถล่ม ภัยพิบัติเกิดขึ้นอย่างฉับพลันและชุมชนไม่มีประสบการณ์เผชิญหน้ามาก่อน การรับมือภัยพิบัติจึงดำเนินไปตามสถานการณ์และสัญชาตญาณของชุมชน การไม่มีข้อมูลพื้นที่เสี่ยงภัยส่งผลต่อการตัดสินใจอพยพออกนอกพื้นที่ชุมชน ภัยพิบัติทั้ง 2 กรณีศึกษา เกิดขึ้นช่วงเวลาที่ต่างกัน กรณีน้ำป่า-ดินโคลนถล่ม จังหวัดแพร่ เกิดขึ้นในปี 2544 ชุมชนพยายามช่วยเหลือตนเองขณะเผชิญเหตุ แต่ด้วยความรุนแรงของน้ำป่า พัดบ้านเรือนจนเสียหายทั้งหมู่บ้านส่งผลให้เกิดผู้เสียชีวิตสร้างความสูญเสียทำให้ชุมชนเปราะบางทั้งด้านความสัมพันธ์และสภาพจิตใจการฟื้นฟูจิตใจผู้ประสบภัยไม่เป็นระบบและได้ผลจำกัด นอกจากนั้นยังพบปัญหาเงินชดเชยตกค้างอยู่ที่หน่วยงานราชการ ซึ่งสะท้อนถึงมาตรการบรรเทาสาธารณภัยที่ไม่ครอบคลุมจนทำให้เกิดปัญหาต่อเนื่องที่ส่งผลต่อการฟื้นตัวชุมชน ในขณะที่ กรณีแผ่นดินไหว จังหวัดเชียงราย เกิดขึ้นในปี 2557 พบว่า โครงสร้างชุมชนมีศักยภาพจนสามารถสร้างกลไกบริหารจัดการช่วยเหลือตนเองจนสามารถฟื้นฟูชุมชน จากการซ่อม-สร้างบ้านเรือนโดยอาศัยทุนชุมชน ได้แก่ กลุ่มช่างหรือสล่าหมู่บ้านที่ผสมผสานเอาความรู้ผู้เชี่ยวชาญทางวิศวกรรมมาใช้ในการซ่อมแซมบ้านผู้ประสบภัยจนเกิดต้นแบบชุมชนจัดการภัยพิบัติที่เรียกว่า ดงลานโมเดล 

       กรณีศึกษาไฟป่าและกรณีศึกษาภัยแล้งซึ่งเป็นภัยพิบัติที่มีลักษณะยืดเยื้อเรื้อรังและมีบริบทเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมและวิถีชีวิตชุมชน กรณีไฟป่าสัมพันธ์กับวิถีชีวิต “คนกับป่า” สำหรับชาวบ้านแล้ว ไฟ คือ สิ่งอำนวยความสะดวก แต่การนิยาม “ไฟป่า” ของรัฐทำให้ไฟกลายเป็นภัยพิบัติที่ต้องป้องกันและจัดการ ดังนั้นการเข้าป่าเพื่อหาของป่า รวมทั้งการใช้ไฟเพื่อเร่งให้พืชต่างๆ แตกใบอ่อนของชาวบ้านจึงถูกตีความว่าเป็นพฤติกรรมเสี่ยง ทว่าการมีกฎหมายเคร่งครัดไม่ได้ส่งผลให้ไฟป่าหายไปจากป่าภูแลนคา เนื่องจากชาวบ้านบางกลุ่มจำเป็นต้องหาของป่าเพื่อเลี้ยงชีพ การควบคุมไฟป่าจึงส่งผลต่อเศรษฐกิจชุมชนด้วย การแสวงหาแนวทางการอยู่ร่วมกันของคนกับป่าโดยไม่ทำให้เกิดการทำลายทรัพยากรป่ายังเป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้พัฒนาต่อไป กรณีภัยแล้ง จังหวัดขอนแก่น ส่งผลกระทบต่ออาชีพเกษตรกรรมที่อาศัยน้ำฝน ในขณะที่ระบบชลประทานยังไม่ได้รับการพัฒนา ยิ่งเมื่อชุมชนหันไปปลูกพืชเศรษฐกิจ เมื่อเกิดภัยแล้งทำให้เกษตรกรเสี่ยงต่อการขาดทุนจนเกิดหนี้สิน ภัยแล้งจึงมาพร้อมความเปราะบางทางเศรษฐกิจ การคิดหาทางเลือกใหม่ๆ เพื่อเศรษฐกิจชุมชน เช่น โครงการวัวชุมชนขึ้นเพื่อสร้างรายได้จึงเป็นทางเลือกที่ดี และอีกวิธีคือการจัดการน้ำร่วมมือกับสมาคมเพื่อนภู ขุดคลองดักน้ำหลากดึงน้ำจากป่าต้นน้ำมาลงพื้นที่หนองหญ้าขาวเพื่อบรรเทาแล้ง ภัยพิบัติทั้ง 2 กรณี เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมชุมชนการจัดการทรัพยากรที่กระทบต่อเศรษฐกิจครัวเรือน 

       ผลที่เกิดตามมา (consequences) จากการรับมือภัยพิบัติกรณีไฟป่า คือ มาตรการควบคุมไฟป่าส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหน้าที่และชาวบ้านยังขาดความยืดหยุ่น แม้ว่ามุมมองจัดการไฟป่าใหม่ๆ มองว่าปัญหาไฟป่า คือ ขนาดของไฟ (Sarah Cawley, 2017) ซึ่งเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ก็รับรู้เช่นกันว่าไฟป่าที่เกิดขึ้นไม่ได้สร้างความเสียหายมากนัก แต่ข้อบังคับและหน้าที่ตามตัวบทกฎหมายทำให้เจ้าหน้าที่ต้องออกควบคุมไฟโดยไม่มีทางเลือกอื่น ผลที่เกิดตามมาจากการจัดการภัยแล้ง คือ ภาระหนี้สินทำให้คนหนุ่มสาวต้องออกไปรับจ้างทั้งต่างจังหวัดและต่างประเทศ การปรับตัวต่อภัยแล้งเริ่มมีความซับซ้อนแม้ว่าชุมชนจะพยายามจัดการน้ำด้วยการผันน้ำจากป่าต้นน้ำ แต่ยังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศที่คาดการณ์ไม่ได้เป็นความท้าทายต่อการแก้ไขปัญหา ส่วนกรณีจัดการน้ำป่า-ดิน โคลนถล่มมีผลที่ตามมา คือ ภาวะซึมเศร้าของผู้ประสบภัยที่สะท้อนกระบวนการเยียวจิตใจที่ล้มเหลว ผู้รอดชีวิตต้องดิ้นรนเยียวยารักษาจิตใจด้วยตัวเองตามอัตภาพ ผลที่ตามมาจากการรับมือแผ่นดินไหว คือ การจัดการความเสี่ยง ระหว่างชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ให้ความสำคัญต่างกัน ขณะที่ชาวบ้านให้ความสำคัญกับความเสี่ยงต่อทรัพย์สินและบ้านเรือนเสียหาย แต่เจ้าหน้าที่เน้นด้านความปลอดภัยและการซ้อมแผนรับมือภัยพิบัติ หลังจากช่วงฟื้นฟูชาวบ้าน เริ่มเคยชินและดำเนินชีวิตได้อย่างปกติ


       
การศึกษาพบว่า ชุมชนต้องปรับตัวอยู่ร่วมกับพื้นที่เสี่ยงภัยไปพร้อมๆ กับการเปลี่ยนแปลงสังคมวัฒนธรรม ทั้งยังพบว่าวัฒนธรรมและความเป็นสมัยใหม่มีส่วนซ้ำความรุนแรงจากภัยพิบัติด้วย เช่น การปลูกพืชเศรษฐกิจกับความเปราะบางต่อภัยแล้ง การรับมือภัยพิบัตินอกจากใช้ศักยภาพชุมชนแล้ว การมีเครือข่ายทางสังคม และองค์ความรู้ผู้เชี่ยวชาญยังเป็นต้นทุนสำคัญต่อการรับมือภัยพิบัติ จากผลการศึกษาและข้อค้นพบกรณีศึกษา 4 พื้นที่ สามารถสรุปบทเรียน 5 ข้อ ดังนี้ 

       1) ความรู้ (Knowledge) จากการศึกษานิเวศวัฒนธรรมชุมชนกับการจัดการภัยพิบัติ ไม่ว่าจะเป็นภัยพิบัติประเภทใด องค์ความรู้ในการจัดการภัยพิบัติในชุมชนจะปรากฏ 2 ลักษณะเสมอ คือ ความรู้ท้องถิ่น (local knowledge) ที่เกิดจากการสะสมประสบการณ์ เช่น ความรู้ในชุมชน ความรู้จากประสบการณ์ชาวบ้าน ปราชญ์ชาวบ้าน และความรู้ของผู้เชี่ยวชาญ (Expert knowledge) ซึ่งมักปรากฏในคู่มือหรือการเตรียมการรับมือภัยพิบัติ ซึ่งหน่วยงานราชการจะคุ้นเคยเป็นอย่างดี ตัวอย่างจากกรณีศึกษาทำให้เห็นว่า เมื่อเกิดภัยพิบัติ หากชุมชนสามารถผสมผสานและสามารถเลือกใช้องค์ความรู้ทั้ง 2 ชุดให้เสริมกันได้ก็จะสามารถฝ่าวิกฤตจากภัยพิบัติไปได้เป็นอย่างดี

       2) เมื่อเกิดภัยพิบัติขึ้น แม้จะมีหน่วยงานต่างๆ จากภายนอกสามารถเข้ามาให้ความช่วยเหลือได้ แต่สำหรับภัยพิบัติที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันนั้น ในระยะแรกสุดของการเผชิญกับภัยพิบัติ แทบทุกอย่างจะขึ้นอยู่กับกลไกการจัดการภายในชุมชน ศักยภาพ ความรู้และทุนของชุมชนจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด แม้หลังจากนั้นจะมีความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งจากภาครัฐ เอกชน เข้ามา แต่หากชุมชนไม่สามารถจัดระบบรองรับได้ก็อาจทำให้เกิดความวุ่นวายโกลาหล ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวชุมชนจำเป็นต้องพิจารณาอย่างรอบคอบและเลือกรูปแบบในการจัดการภัยพิบัติที่สอดคล้องเหมาะสมกับชุมชน และลดความเสี่ยงในการสร้างผลกระทบอื่นๆ ต่อเนื่องที่จะตามมา 

       3) ในกรณีของภัยพิบัติที่ยืดเยื้อเรื้อรัง เช่น ในกรณีภัยแล้งหรือไฟป่า ความสัมพันธ์ของบุคคลและองค์กรที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะความไว้วางใจกันระหว่างชุมชน หน่วยงานพัฒนาเอกชน กับหน่วยงานภาครัฐจะมีความสำคัญอย่างยิ่งในการแก้ปัญหา เพราะผลกระทบและแนวทางการจัดการกับภัยพิบัติที่ยืดเยื้อเรื้อรังนี้ต้องใช้ความรู้ความเข้าใจในเรื่องนิเวศวัฒนธรรมของชุมชน 

       4) การสร้างศักยภาพในชุมชน (Capacity building) การสร้างศักยภาพในชุมชนทั้งระบบมีส่วนช่วยในการรับมือภัยพิบัติที่หลากหลาย เช่น ผู้นำที่มีศักยภาพ ระบบการสื่อสารที่มีความพร้อม รวมทั้งการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเครือข่ายทั้งภายในชุมชนและภายนอกชุมชน เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยเสริมให้ชุมชนมีศักยภาพเพิ่มขึ้นและเอื้ออำนวยให้ชุมชนสามารถก้าวข้ามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติได้ดีขึ้น 

       5) ทางเลือกในการจัดการภัยพิบัติ จากผลการศึกษา พบว่า การจัดการภัยพิบัตินั้นมีหลากหลายรูปแบบเพื่อสนองลักษณะภัยพิบัติแต่ละประเภท รูปแบบการจัดการภัยพิบัติกระแสหลักที่ผลิตขึ้นมาภายใต้กรอบความคิดของรัฐส่วนกลาง ผ่านคำสั่ง กฎหมาย ข้อกำหนด ซึ่งเป็นลักษณะองค์ความรู้และแนวทางที่มีแบบแผน และเป็นทางการอาจมีความจำเป็นในบางกรณี แต่กรณีศึกษาภัยพิบัติที่แตกต่างกันในการวิจัยนี้พบว่าภัยพิบัติที่เกิดขึ้นนั้นมีหลากหลายแนวทางในการจัดการ ทั้งรูปแบบการจัดการที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ แนวทางการจัดการภัยพิบัติชุมชนจึงควรมีทางเลือกหลากหลาย เพื่อให้ชุมชนหรือเจ้าของพื้นที่สามารถเลือกรับปรับใช้รูปแบบการจัดการด้วยตัวเองโดยมีภาครัฐเป็นผู้สนับสนุน ผ่านกระบวนการสร้างทางเลือกแบบส่วนร่วมจากชุมชน (bottom-up design) ร่วมสร้างการจัดการภัยพิบัติในรูปแบบใหม่ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตชุมชนและสอดคล้องกับความต้องการปกป้องพลเรือนของรัฐส่วนกลาง

       ภาพรวมการศึกษามิติความสัมพันธ์ในนิเวศวัฒนธรรม ทำให้เห็นปรากฏการณ์ในหลากหลายมุมมองและสะท้อนการแก้ไขปัญหาภัยที่แตกต่างตามบริบท โดยเฉพาะการเห็นปฏิสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นภายใต้นิเวศวัฒนธรรมอย่างเป็นองค์รวม เงื่อนไขที่เข้ามากำหนดสัมพันธ์กันอย่างซับซ้อน ทั้งจากปฏิสัมพันธ์ระหว่าง บุคคล ชุมชน สิ่งแวดล้อม กฎหมาย และนโยบาย ต่างมีส่วนเกี่ยวข้องต่อผลลัพธ์และรูปแบบในการจัดการภัยพิบัติด้วย แนวคิดนิเวศวัฒนธรรมเป็นกรอบแนวคิดที่ช่วยให้เห็นมุมมองใหม่ในการพัฒนาศักยภาพของชุมชนในการจัดการภัยพิบัติ ตัวอย่างของข้อมูลนิเวศวัฒนธรรมภัยพิบัติที่ได้นำเสนอในบทก่อนๆ อาจเป็นตัวอย่างสำหรับการสร้างฐานข้อมูลนิเวศวัฒนธรรมผ่านการใช้เครื่องมือภัยพิบัติชุมชนที่ได้มีการพัฒนาขึ้น (โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์และคณะ 2557) การมองให้เห็นถึงความเชื่อมโยงของมิติต่างๆ ของการรับมือภัยพิบัติจะช่วยให้เห็นศักยภาพและโอกาสในการพัฒนากลไกชุมชนที่มีอยู่ให้เกิดความพร้อมในการจัดการภัยพิบัติที่ดี สอดคล้องกับบริบทของชุมชน และมีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิม 




รับสมัครเจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป จำนวน 1 อัตรา
ขอเชิญผู้ที่สนใจ เข้าร่วมฟัง Facebook Live เรื่อง Narratives for Knowledge Management เรื่องเล่าเพื่อการจัดการความรู้ในวิกฤตโรคระบาด
ขอเชิญชวนผู้ที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมวันครบรอบ 2 ปี หอจดหมายเหตุสาธารณสุขแห่งชาติ
ขอเชิญร่วมพิธีไหว้ครูหมอไทย ตระกูลแพทยานนท์ ประจำปี 2563
ดูทั้งหมด »
E-Mail

รหัสผ่าน

จดจำการล๊อคอิน

สมัครสมาชิก ลืมรหัสผ่าน