รถเข็น (0 ชิ้น)
 
มองสุขภาพผ่านแนวคิดสังคมเสี่ยงภัย

เขียนโดย
ศุกร์ 30 ตุลาคม 2552 @ 09:09


"มองสุขภาพผ่านแนวคิดสังคมเสี่ยงภัย (Risk Society) " โดย อาจารย์สุรสม กฤษณะจูฑะ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

อาจารย์สุรสม กฤษณะจูฑะ เป็นบรรณาธิการและผู้เขียนหลักของ หนังสือ “สิทธิสุขภาพ สิทธิมนุษยชน” ได้รับเชิญมาเป็นวิทยากรผู้นำการเสวนา “มองสุขภาพ ผ่านแนวคิดสังคมเสี่ยงภัย” เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2552 นี้

                ในหนังสือเล่มนั้นได้รับอิทธิพลและอ้างอิงบางส่วนจากหนังสือของอูลริค เบค (Ulrich Beck) นักสังคมวิทยาชาวเยอรมนี ที่ชื่อ “สังคมเสี่ยงภัย” (Risk Society: Towards a New Modernity) หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย และเป็นหมุดหมายสำคัญในมุมมองทางสังคมวิทยาในแง่ที่ว่าเป็นการวิพากษ์กระแสความทันสมัย (modernity)

                ในบทนำหนังสือเล่มดังกล่าว เบคเสนอว่า พัฒนาการของสังคมมีวิวัฒนาการ (revolutionism) หรือขั้นบันได แบ่งเป็น 3 แบบด้วยกัน คือ ยุคแรก pre-modern หรือสังคมประเพณี ชุมชนมีขนาดเล็กใกล้ชิดสนิทสนมกัน ศาสนามีผลต่อวิถีชีวิตในแง่ที่เป็นสิ่งยึดเหนี่ยวผู้คนด้วยวิถีปฏิบัติที่มีแบบแผนเดียวกัน ครอบครัวมีลักษณะเป็นครอบครัวขยาย มนุษย์จึงมองตนเองในฐานะพวกเรา (we) ที่เป็นส่วนหนึ่งของชุมชน 

                ยุคที่สอง early modernity หรือ simple modernity ยุคสังคมอุตสาหกรรม หรือยุคเรืองปัญญา (Enlightenment) จากความเป็นชุมชนจารีตประเพณี ได้เกิดเป็นรัฐชาติ (nation state) ศาสนามีอิทธิพลต่อมนุษย์ลดน้อยลง จากครอบครัวขยายได้กลายมาเป็นครอบครัวเดี่ยว และยุคที่สาม late modernity หรือ reflexive modernity อันเป็นยุคข้อมูลข่าวสารหรือโลกาภิวัตน์ บรรษัทข้ามชาติมีอิทธิพลมากขึ้น ศาสนาและครอบครัวมีรูปแบบที่หลากหลายและยืดหยุ่นมากขึ้น

                อย่างไรก็ตาม เบคไม่ได้เชื่อเช่นเดียวกับมาร์กซ์ ที่มองว่าสังคมจะวิวัฒนาการไปจนถึงสังคมอุดมคติ (Utopia) และไม่ได้เชื่อในการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงทางชนชั้นอีกต่อไป เพราะเขายังเชื่อว่าความทันสมัย (modernity) ยังคงเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่ และมนุษย์ก็ได้ประโยชน์จากความทันสมัย อีกทั้งเบคยังไม่เชื่อว่าปัจจุบันสังคมได้ก้าวเข้าสู่ยุคหลังความทันสมัย (postmodern) แล้ว ความทันสมัยยังคงเป็นเรื่องจริงที่ดำรงอยู่ เพียงแต่ว่าต้องมีการตรวจสอบและวิพากษ์ปรากฏการณ์ทางสังคมอย่างเข้มข้นหนักหน่วงด้วยมุมมองสะท้อนกลับ (reflexive)

                 กล่าวคือ เบคเชื่อว่า สังคมทันสมัยเผชิญหน้ากับภาวะเสี่ยงภัยที่มาจากการเติบโตของอุตสาหกรรมและการทำลายตนเองในด้านสิ่งแวดล้อม ปัญหาเหล่านี้จะสร้างสำนึกให้คนมองเห็นพิษภัยของความทันสมัย และเกิดสำนึกในการหาทางเยียวยาแก้ไข

                สำหรับเบค ปลายทางของความทันสมัยจึงไม่ได้สวยหรู กล่าวคือ ไม่ใช่สังคมที่ปราศจากความยากจน ผู้คนร่ำรวย มั่งคั่งทางวัตถุ แต่ปลายทางที่เขาเสนอไว้ยังเป็นปลายเปิดกว้าง ที่ยังเผื่อความเป็นไปได้อย่างหลากหลาย (open end) และอาจจะต้องเผชิญหน้ากับความทุกข์ทางสังคม (social suffering) มากขึ้น เนื่องจาก

                ประการแรก  มนุษย์เป็นปัจจัยที่สร้างความเสี่ยงมากขึ้น แทนที่มนุษย์จะประสบแต่ภัยธรรมชาติอย่างแต่ก่อน แต่ตอนนี้มนุษย์ต้องเผชิญความเสี่ยงภัยจากน้ำมือของมนุษย์ด้วยกันเอง เช่น โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ พิษภัยจากสารเคมีต่างๆ เป็นต้น

                ประการที่สอง ความเสี่ยงในยุคปัจจุบันแตกต่างจากความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในอดีตอย่างสิ้นเชิง กล่าวคือ อะไรคือความเสี่ยงนั้นขึ้นอยู่กับการให้ความหมายของคนในสังคม ซึ่งท่ามกลางการเผชิญหน้ากับปัญหามลภาวะ ปัญหาโลกร้อน ความเสี่ยงภัยที่มนุษย์ต้องเผชิญหน้าก็มีความหมายเปลี่ยนแปลงไป

                ประการที่สาม เบคเห็นว่า มนุษย์ในฐานะปัจเจกบุคคลเป็นผู้ให้ความหมายทางสังคม ชนชั้นจึงไม่มีความสำคัญ โดยเฉพาะปัญหาทางสิ่งแวดล้อมที่ทุกคนได้รับผลกระทบเท่าเทียมกัน

                สังคมเสี่ยงภัย (risk society) จึงเป็นสิ่งที่มนุษย์เป็นผู้สร้างขึ้นมา คนรุ่นลูกรุ่นหลานคือผู้รับผลกระทบ แต่ในมุมมองของเบคแล้ว มันเป็นผลพวงที่เกิดจากความไม่ตั้งใจ (unintended consequence) ทางออกคืออะไร เบคเห็นว่าคือการที่มนุษย์ได้ย้อนสะท้อนคิด(reflexive) ว่าสิ่งที่มนุษย์ทำลายตนเองคืออะไร นั่นคือทุกคนควรจะได้คิดไตร่ตรองใคร่ครวญอย่างลึกซึ้ง

               เบคได้พัฒนาแนวคิดกระบวนการกลายเป็นปัจเจกชนนิยม (individualization) ว่า ในฐานะที่ทุกคนเผชิญหน้ากับความเสี่ยง ปัจเจกจะต้องพัฒนาตนเองและเป็นผู้ที่ตรึกตรองกับความคิดต่างๆในการหาทางออก ด้วยสำนึกแห่งความแห่งอิสรชนที่ห่วงใยกังวลถึงสิ่งที่ไม่อาจคาดคะเนในอนาคตได้ นี่น่าจะเป็นคำตอบของการไปพ้นภาวะเสี่ยงภัยที่กำลังคุกคามมนุษย์อยู่ทุกวันนี้

                เบคมองว่ายุคทันสมัยแบบสะท้อนย้อนกลับ (reflexive modernity) ผู้เชี่ยวชาญไม่อาจยึดกุมผูกขาดความรู้เอาไว้ในมือได้ เบคเชื่อว่าสังคมต้องเกิดกระบวนการวิพากษ์ด้วยการใช้เหตุและผลอย่างถอนรากถอนโคน (radicalization of rationalization) อาทิ ระบบราชการ ถือเป็นแนวคิดแบบมีเหตุมีผลมีระบบระเบียบของยุคสมัยใหม่ แต่ในขณะเดียวกันระบบราชการก็มีข้อจำกัดหรือกับดักบางประการที่เราตัองวิพากษ์วิจารณ์อย่างถอนรากถอนโคน

               ยกตัวอย่างเช่น ในสังคมไทยมีการใช้ความรู้แบบวิทยาศาสตร์มาให้ความหมายของอุบัติเหตุ สังคมให้ความหมายเรื่อง “เมาไม่ขับ” ด้วยการอ้างอิงข้อมูลทางสถิติและทำการรณรงค์ไปทั่วประเทศ แต่ก็มีการโต้แย้งว่า การขับรถเร็วเกิน 80 กม./ชม. ก็เป็นสาเหตุสำคัญของอุบัติเหตุเช่นเดียวกัน และมีโอกาสเสี่ยงพอๆ กับการดื่มสุรา แต่กลับไม่เป็นที่สนใจของสังคมมากเท่าใดนัก ดังนั้น หากจะแก้ปัญหาอุบัติเหตุในการจราจร ก็ต้องให้เกิดกระบวนการสานเสวนาของความรู้ชุดต่างๆ โดยที่ปัจเจกฯแต่ละคนมาร่วมสะท้อนย้อนคิดในสิ่งที่เกิดขึ้นและมองไปข้างหน้าร่วมกัน

                ในตอนท้ายของการเสวนา  ผู้เข้าร่วมประชุมได้ร่วมกันวิเคราะห์คำถามชวนคิด 3 ข้อสำคัญคือ

                คำถามข้อ 1 เราจะใช้แนวคิดสังคมเสี่ยงภัยหรือ reflexive modernity ในการอธิบายสังคมไทยได้หรือไม่

                คำถามข้อ 2  เราจะควบคุมวิทยาศาสตร์ได้หรือไม่ บทบาทของผู้เชี่ยวชาญยังจำเป็นอยู่หรือไม่ ประชาชนคนสามัญธรรมดาจะต่อรองประทะประสานกับชุดความรู้ของผู้เชี่ยวชาญได้อย่างไร

                คำถามข้อ 3 แล้วเช่นนั้น คำตอบของสังคมไทยควรเป็นอย่างไร นอกจากภาวะความทันสมัยแบบสะท้อนย้อนกลัเช่นที่เบคเสนอแล้ว เราควรมีทางออกอื่นๆ หรือไม่              

                มีผู้เสนอว่า สำหรับคำถามข้อที่ 1 บริบทของสังคมไทยกับสังคมตะวันตกมีความแตกต่างกัน เนื่องจากสังคมไทยยังก้าวข้ามไม่พ้นความยากจน ขาดแคลนทรัพยากรและโอกาสต่างๆ ดังนั้นจึงมีเพียงบางพื้นที่เท่านั้นที่เราจะจัดเวทีเพื่อให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมได้ เนื่องจากชาวบ้านเองก็ต้องตระหนักในสิทธิของตนเอง ตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือ แม้กระทั่งเครื่องมือสำคัญคือการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพของประชาชน (HIA) ทั้งๆ ที่ปัญหาของชาวบ้านมีอยู่ทุกหนทุกแห่ง แต่มีสักกี่ชุมชนที่จะสามารถใช้เครื่องมือนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

                กระนั้นก็ตาม ปรากฏการณ์ของมาบตาพุดก็เป็นอีกหนึ่งรูปธรรมที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งในการตั้งคำถามกับแนวคิดสังคมเสี่ยงภัยในบริบทสังคมไทย

                คำถามข้อที่ 2 แม้บทบาทของผู้เชี่ยวชาญยังคงเป็นสิ่งสำคัญที่จะให้ความรู้แก่สังคม แต่กระนั้นกระบวนการสื่อสารสาธารณะในสังคมยุคปัจจุบันก็ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของผู้เชี่ยวชาญ และมิอาจร่วมถกเถียงได้ เพราะใช้ภาษาคนละชุด นอกจากนี้ ชาวบ้านมีองค์ความรู้อีกชุดหนึ่ง นั่นคือ ภูมิปัญญาท้องถิ่นหรือภูมิปัญญาชาวบ้าน ซึ่งที่ผ่านมาไม่ค่อยได้ถูกนับรวมเอาไปเป็นส่วนหนึ่งของการตัดสินใจเชิงนโยบาย ทำอย่างไรที่จะให้ชุดความรู้ของชาวบ้านกับของผู้เชี่ยวชาญมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน

                คำถามข้อที่ 3 ข้อถกเถียงว่าด้วยทางออกของสังคมไทย นอกจากการทบทวนไตร่ตรองสะท้อนคิดกับความทันสมัยอย่างถอนรากถอนโคนแล้ว ซึ่งเน้นพลังของปัจเจกบุคคล แต่ในสังคมไทยมีการนำเสนอว่า ชุมชนยังเป็นคำตอบของสังคมไทย เราจะถกเถียงในประเด็นนี้อย่างไร ดังนั้น หากจะไปพ้นภาวะเสี่ยงภัยเราจะพัฒนาปัจเจกบุคคลให้สามารถยืนหยัดต่อสู้กับความเสี่ยงภัยโดยลำพังหรือจะเชื่อมประสานพลังจากความแตกต่างหลากหลายของคนในสังคม เพื่อร่วมกันถอนรากถอนโคนกระบวนทัศน์ความทันสมัยที่ไม่คำนึงถึงความเสี่ยงภัยเลยแม้แต่น้อย

(สรุปความจากศุกร์เสวนา 7 สิงหาคม 2552  มองสุขภาพผ่านแนวคิดสังคมเสี่ยงภัย. Beck, Ulrich. (1992). Risk Society: Towards a New Modernity.(translated by Mark Ritter) London, Newbury, New Delhi: SAGE Publications.(introduction pp.1-8) )

เก็บตกศุกร์เสวนา 7 สิงหาคม 2552

 

 



ปรับของสมนาคุณการสมัคร/ต่ออายุสมาชิก
รางวัลการประกวดสร้างหนังสั้น สร้างสรรค์สื่อ
ความตาย: เทคโนโลยีทางการแพทย์หรือวัฒนธรรมเป็นตัวกำหนด
ความรู้ชายขอบ: อำนาจและประสบการณ์
ดูทั้งหมด »
E-Mail

รหัสผ่าน

จดจำการล๊อคอิน

สมัครสมาชิก ลืมรหัสผ่าน