รถเข็น (0 ชิ้น)
 
การต่อต้านขัดขืนกับการผลิตซ้ำทางอุดมการณ์

เขียนโดย gam pata
อาทิตย์ 01 พฤศจิกายน 2552 @ 12:20


“หมอแว่น” เป็นหมออนามัยที่เพิ่งจบการศึกษาจากวิทยาลัยสาธารณสุขแห่งหนึ่งและได้รับการบรรจุมาเป็นเจ้าพนักงานอนามัยที่นี่

 

             ที่สถานีอนามัยแห่งนี้แต่เดิมมีเจ้าหน้าที่อยู่แล้ว 2 คน คนหนึ่งอายุมากแล้วเป็นหัวหน้าสถานีอนามัย แกเป็นญาติกับกำนันและเป็นคนในตระกูลเก่าแก่ของที่นี่ด้วย แกอยู่ที่นี่มานานจนกลายเป็นข้าราชการที่ทำงานแบบเช้าชามเย็นชามตามมาตรฐาน ของทางการไปแล้ว

            ที่แกเป็นหัวหน้าอนามัยอยู่ที่นี่มายาวนาน โดยไม่เคยย้ายไปไหนเลยนั้นเป็นเรื่องที่มีเหตุผลทางประวัติศาสตร์

             คือเมื่อสักสาม-สี่สิบปีก่อนโน้น กระทรวงสาธารณสุขต้องการสร้างสถานีอนามัยในชนบท แต่ก็ขาดงบประมาณ ทางการจึงออกนโยบาย (นัยยะ + อุบาย) เชิญชวนว่าหากคหบดีในท้องถิ่นบริจาคที่ดินในการก่อสร้างสถานีอนามัย ทางการก็จะให้ทุนการศึกษาแก่ลูกหลานให้ไปเรียนกลับมาเป็นเจ้าพนักงานผดุงครรภ์และให้บรรจุมาทำงานใกล้บ้าน

            เป็นนโยบายการระดมทุนที่ถือว่าก้าวหน้าเอาการ เพราะได้ทั้งเงินทุนจากท้องถิ่นและได้ทั้งบุคลากรที่จะกลับมาทำงานโดยไม่ย้ายออกจากพื้นที่

            ปัญหาก็คือ เมื่อมาบรรจุเป็นข้าราชการทำงานในพื้นที่ ความก้าวหน้าในหน้าที่การงานก็ไม่ได้อยู่ที่การทำงานรับใช้ชาวบ้านเท่ากับทำงานรับใช้เจ้านายที่อำเภอหรือจังหวัด ยิ่งเป็นลูกหลานผู้มีอำนาจบารมีในท้องถิ่น ทำงานแย่แค่ไหนก็ไม่มีชาวบ้านกล้าทักท้วงหรือร้องเรียน

            เราจึงแทบไม่เคยเห็นหัวหน้าสถานีอนามัยแห่งนี้ทำงานให้บริการสุขภาพแก่ชาวบ้านเลย แกใช้เวลาส่วนใหญ่ของแกอยู่ที่บ้าน เวลาที่เหลือก็หมดไปกับการคลุกคลีใกล้ชิดกับนายอำเภอและปลัดอำเภอ ทำหน้าที่ให้บริการเสิร์ฟน้ำเสิร์ฟท่าให้กับผู้ว่าหรือเจ้านายอื่นๆ ที่มาเยี่ยมหรือไม่ก็ไปเสนอหน้าตามงานประชุมต่างๆ เสียมากกว่า

            เจ้าหน้าที่อีกคนก็เรียนรู้ที่จะเอาตัวรอดด้วยการไม่ค่อยมาประจำอยู่ที่อนามัย

            พอหมอแว่นมาอยู่เป็นหมออนามัยใหม่ที่นี่ แกก็เลยทำงานอยู่คนเดียว พี่ๆ ทั้งสองอาศัยความอาวุโสใช้งานน้องอย่างไม่เกรงใจ เดือนหนึ่งๆ มีสามสิบวันก็แบ่งกันอยู่เวรคนละ 10 วัน แต่พวกพี่ทั้งสองต่างก็มีบ้านและครอบครัวอยู่ในชุมชน ห่างออกไปจากสถานีอนามัย เวลาอยู่เวรพวกพี่ๆ ก็พากันพักอยู่กับบ้านโดยบอกกับชาวบ้านว่าถ้ามีอะไรก็ให้ไปตามแกที่บ้านได้

            เอาเข้าจริง หมอแว่นต้องเหมาเวรคนเดียวรวด เพราะแกพักอาศัยอยู่ที่บ้านพักหมอในสถานีอนามัย มีอะไรเกิดขึ้น ไม่ว่าเวลาไหน ชาวบ้านก็มาตามแกไปดูแลรักษา  เพราะเป็นที่รู้ๆ กันอยู่แล้วในชุมชนว่าถึงไปตามหมออนามัยคนเก่าที่บ้านแก แกก็ไม่มาตรวจให้อยู่ดี

            หมอแว่นก็เลยต้องอยู่เวรทั้งสามสิบคืนโดยสิ่งเดียวที่พี่ๆ ช่วยก็คือช่วยรับเงินค่าอยู่เวรกันไปตามปรกติเท่าๆ กันคนละ 10 วันทุกเดือน

            หนักเข้า หมอแว่นก็เริ่มทนไม่ไหว ทั้งเหนื่อย ทั้งรู้สึกว่าถูกเอาเปรียบอย่างไม่เป็นธรรม แกคิดจนในที่สุดก็หาทางออกได้ โดยในวันที่แกไม่ได้อยู่เวร แกก็มักจะขี่มอเตอร์ไซค์คู่ใจของแกเตร็ดเตร่ออกไปอยู่เสียนอกหมู่บ้าน บางทีก็หาเรื่องไปเยี่ยมเพื่อนหมออนามัยที่สถานีอนามัยอื่น เที่ยวคุยเที่ยวเล่นจนดึกดื่นค่อนคืนจึงค่อยกลับเข้าบ้านพักที่สถานีอนามัย

            การทำอย่างนี้ ถึงจะช่วยให้หมอแว่นไม่ต้องทำงานตลอดทั้งวันและตลอดเดือนได้บ้าง แต่แกก็ยังถูกตามตอนดึกอยู่ดี ในที่สุด หมอแว่นก็ค้นพบวิธีการปลดภาระการอยู่เวรที่มีประสิทธิภาพอย่างยิ่ง คือ การดื่มเหล้าให้เมาทุกๆ วันที่แกไม่อยู่เวร

            จากหมอแว่นที่ชาวบ้านเคยเอ็นดูว่าขยันแถมยังตาหวาน เวลาผ่านไปไม่ถึง 9 เดือนที่หมอแว่นมาทำงานที่นี่ แกกลายเป็นหมอขี้เมา เดิมที่เคยตาหวานอยู่แล้ว ถึงตอนนี้ตาแกยิ่งหวานฉ่ำหยาดเยิ้มแถมพูดจาอ้อแอ้จนไม่มีใครไปตามแกมาให้บริการตรวจรักษานอกเวลาอีกต่อไป

            เป็นอย่างนี้นานๆ เข้า แกก็มีอาการติดเหล้า เมาหัวราน้ำเกือบทุกวันจนชาวบ้านเอือมระอา

            การเมาเหล้าคงเป็นทางออกเดียวสำหรับคนธรรมดาๆ อย่างหมอแว่น มันช่วยให้แกลืมความทุกข์ ความเจ็บใจ และยังเป็นการประชดประชันพวกพี่ๆ ที่สถานีอนามัยเพื่อความสะใจได้บ้าง แต่จะโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม การต่อต้านขัดขืนและการประชดชีวิตของแกนั้น มันกำลังผลิตซ้ำความเลวร้ายที่แกเองเคยเกลียดชังมันมาก่อน 

            จากคนถูกเอาเปรียบที่ต้องการต่อต้านขัดขืนระบบที่ไม่เป็นธรรมและพี่ๆ ที่ไม่รับผิดชอบ หมอแว่นกำลังกลายเป็นคนแบบเดียวกันกับที่เขาต่อต้านขัดขืน คือ กลายเป็นคนที่ไม่รับผิดชอบ หมดความกระตือรือร้น และทำงานแบบเช้าชามเย็นชาม ไม่ต่างไปจากพฤติกรรมของหัวหน้าอนามัยและรุ่นพี่ที่หมอแว่นเคยรังเกียจ

            แกกลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบที่แกต่อต้านขัดขืนไปอย่างไม่รู้ตัว

            ระบบที่มันผลิตซ้ำความฉ้อฉลด้วยตัวมันเองได้นี้ไม่ได้มีอยู่เฉพาะที่สถานีอนามัยเท่านั้น แต่เรายังพบเห็นมันได้โดยทั่วๆ ไป เช่น ในระบบราชการอื่นๆ ระบบการเมือง (ทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น) ระบบการศึกษา เครือข่ายแชร์ลูกโซ่ กลุ่มวัยรุ่นซิ่งมอเตอร์ไซค์ แก๊งอันธพาล ระบบขายตรง ตลาดหลักทรัพย์ หรือแม้แต่ในหมู่พระสงฆ์และวงการศาสนา

            เรียกได้ว่า ตั้งแต่อาณาจักรยันศาสนจักร ตั้งแต่ระบบทุนนิยมสามานย์ยันอำมาตยาธิปไตยก็ล้วนแต่มีทุรลักษณะเชิงระบบเช่นนี้ดำรงอยู่  เป็นระบบที่เมื่อเราเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของมันแล้ว มันไม่เพียงแต่บังคับให้เรายอมจำนนหรือทำให้เราเชื่องเท่านั้น แต่มันยังทำให้การต่อต้านขัดขืนของเรากลายเป็นส่วนหนึ่งของการผลิตซ้ำระบบของมันอีกด้วย

            ระบบที่ผลิตซ้ำตัวเองนี้แม้จะมีรูปแบบที่หลากหลาย แต่มันก็มีลักษณะร่วมกันประการหนึ่งคือมันอาศัยความอ่อนแอของมนุษย์ คือ ความโกรธ ความเกลียด ความกลัว และความโลภเป็นเครื่องมือสำคัญในการผลิตซ้ำทางอุดมการณ์และปฏิบัติการของมันเอง โดยมันทำให้เราขาดสติและมองไม่เห็นทางออกทางอื่นที่เป็นไปได้

            มันจึงสามารถผลิตซ้ำตัวมันเองได้อย่างไม่สิ้นสุด

           โดยเฉพาะในสภาวะที่สังคมกำลังเผชิญหน้ากับความรุนแรงและความขัดแย้งเชิงโครงสร้างที่ทำให้ผู้คนอยู่ในอารมณ์โกรธ เกลียด หรือกลัวอย่างรุนแรงจนขาดสติ ระบบที่ผลิตซ้ำความฉ้อฉลนี้จะทำงานโดยเราอาจไม่รู้ตัว

            ในสถานการณ์เช่นนี้ แม้แต่การต่อต้านขัดขืนหรือความพยายามที่จะยุติความรุนแรงก็อาจกลายเป็นการผลิตซ้ำความรุนแรงได้อย่างไม่คาดคิด
 

โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์

บทความตีพิมพ์ในนิตยสาร เวย์

 



หนังสือชุดงานคือความดี เล่ม 7 : ฟ้าหลังฝน
หนังสือชุดงานคือความดี เล่ม 6 : หุ้นส่วนความดี
หนังสือชุดงานคือความดี เล่ม 5 : ก่อนโลกจะขานรับ
หนังสือชุดงานคือความดี เล่ม 4 : กำลังใจและความหวัง
ดูทั้งหมด »
 

 กระวาน
พยาบาลบ้านนา

สมาชิกทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 1 Re: การต่อต้านขัดขืนกับการผลิตซ้ำทางอุดมการณ์
มันช่าง...คล้ายกันเหลือเกินกับชีวิตหมออนามัยเช่นฉัน...แต่ฉันไม่ยอมให้เกิดการผลิตซ้ำ...จึงต้องยกตัวเองออกจากสิ่งแวดล้อมที่น่ากลัวอันนี้ เพื่อคงไว้ซึ่งอุดมการณ์เดิมแต่ที่ใหม่..เพื่อให้ยังคงทำประโยชน์ให้ประเทศชาติ บ้านเมืองและประชาชนในอีกบทบาท อย่างน้อยเปลี่ยนแปลงคนอื่นไม่ได้ แต่ก็เปลี่ยนแปลงตนเองเพื่อให้ทำงานได้อย่างสบายใจ..และมีความสุข..เพื่อสร้างพลังในตนเองเพื่องานบริการปฐมภูมิต่อๆไป...แต่บ่อยครั้งที่นึกสงสารชาวบ้านที่นั่นไม่ได้..ที่ยังต้องเผชิญกับหมออนามัยเจ้าถิ่น..ที่ไม่เอาไหนซะเลย
ผู้โพสต์ : กระวาน [Fri, 20 Jul 2012 02:04 1.2.137.151]
 
หน้า : 1
E-Mail

รหัสผ่าน

จดจำการล๊อคอิน

สมัครสมาชิก ลืมรหัสผ่าน