รถเข็น (0 ชิ้น)
 
นโยบายสาธารณะของไทย กับ ปัญหาประชาธิปไตยร่วมสมัยในยุคปัจจุบัน

เขียนโดย suksala
พฤหัส 14 พฤศจิกายน 2556 @ 10:19


เมื่อประชาธิปไตยถูกตั้งคำถามจากหลายมุมมอง ได้มีการเสนอวิธีคิดเพื่อให้ “ความเป็นประชาธิปไตย” มีความสมบูรณ์แบบมากขึ้น
 
เนื่องจากประชาธิปไตยแบบตัวแทนได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง กระแสวิธีคิดแบบประชาธิปไตยใหม่นี้ ไม่ได้มีเฉพาะแต่สังคมไทย 
แต่กลายเป็นกระแสไปทั่วโลก จากผลพวงของการสิ้นสุดยุคสงครามเย็น การขยายตัวของพื้นที่สาธารณะ 
การเพิ่มขึ้นของชนชั้นกลางใหม่ในแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน สื่อทางสังคมของโลกไร้พรมแดนมีส่วนทำให้การเมืองเปลี่ยนรูปโฉม ความขัดแย้งทางการเมืองขยายตัวมากขึ้น และกระบวนการเชิงนโยบายมีรูปแบบที่เป็นทางการมากเกินไป

รูปแบบที่สะท้อนความหมายของประชาธิปไตยมีรูปธรรมที่หลากหลาย อาทิ vote-centric หรือคือการเอาชนะคะคานด้วยการยกมือ 
ในขณะที่การถกแถลงกันเฉพาะในหมู่ผู้เชี่ยวชาญ หรือ expert-centric ในลักษณะของการจำกัดแวดวง และการเมืองของการถกแถลง อาศัยการพูดคุยถกเถียง ทำความเข้าใจความแตกต่างที่มีอยู่ จาก talk-centric ได้กลายเป็นที่มาของประชาธิปไตยแบบร่วมไตร่ตรอง (deliberative) โดยอาศัยการมีส่วนร่วมจากพลังทางวิชาการ พลังทางสังคม และพลังทางการเมือง ซึ่งในแต่ละภาคส่วนมีศักยภาพและข้อจำกัดที่แตกต่างกัน 

สมัชชาทำหน้าที่เป็นการประสานงานเพื่อให้เกิดการถกแถลงในรูปแบบที่เป็นทางการ แม้จะได้รับการตั้งคำถามมากมายจากการทำงาน เกือบ 6 ปีที่ผ่านมาของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ แต่การสถาปนาการพูดคุยด้วยการใช้สติปัญญาท่ามกลางความแตกต่างทางความคิดของทุกภาคส่วน ประชาธิปไตยแบบร่วมไตร่ตรอง จึงเป็นไปไม่ใช่เพื่อเป้าประสงค์เชิงนโยบายเพียงอย่างเดียว แต่มีเป้าหมาย 4 ประการที่สำคัญ คือ 
1) เพื่อสร้างความชอบธรรม ให้ทุกฝ่ายกล้าคิดกล้าตัดสินใจ มีความรับผิดชอบร่วมกัน 
2) กระตุ้นให้ผู้คนทุกภาคส่วนเกิดความคิดในเชิงจิตสาธารณะร่วมกัน 
3) เพื่อให้เกิดการยอมรับและเคารพความคิดซึ่งกันและกัน แม้จะมีจุดยืนที่แตกต่างกัน 
4) เพื่อให้เกิดกระบวนการยกระดับคุณภาพการตัดสินใจ ด้วยการถกเถียงที่เข้มข้นมีข้อมูลรองรับ 
 
กระนั้นก็ตาม ข้อจำกัดของประชาธิปไตยแบบร่วมไตร่ตรอง ที่ควรพิจารณาร่วมกัน คือ 
1) การมีส่วนร่วม การศึกษากลุ่มผู้มีส่วนได้เสีย และผู้ได้รับประโยชน์ เป็นไปอย่างรอบด้านหรือไม่ 
2) การตั้งต้นประเด็น ใครพูดก่อนพูดหลัง มีส่วนทำให้การถกแถลงมีความแตกต่างกันอย่างไร 
3) สมรรถนะในการร่วมไตร่ตรอง คนในแต่ละภาคส่วนมีความสามารถในการพูดแตกต่างกัน ทำให้มีข้อจำกัดในการสร้างวาทกรรมที่แตกต่างกัน 
4) คุณภาพและปริมาณในการถกเถียง ควรจัดสมดุลอย่างไรในแต่ละประเด็นปัญหา 
5) คุณภาพของการเป็นตัวแทน นับวันคนที่เป็นตัวแทนจะมีความแตกต่างจากคนอื่นๆ ที่เลือกเขามาเป็นตัวแทน 
6) การทำกระบวนการที่ไม่รัดกุมเพียงพอ ทำให้คนแตกขั้วทางความคิดมากยิ่งขึ้น นานวันคนที่เคยเข้าร่วมสมัชชา จะไม่อยากเข้าร่วม 
7) สมัชชาควรทำหน้าที่ปรับสนามความสัมพันธ์ให้ฝ่ายที่เสียเปรียบมีความเท่าเทียมกับฝ่ายอื่น ๆ มากขึ้น หรือให้โอกาสทุกคนเสมอกัน 
โดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างที่มีมาก่อนหน้านั้น 
8) ทุกคนที่เข้าร่วมมักมีแนวคิดแนวทางของตนเองมาก่อนแล้ว ทำอย่างไรที่กระบวนการถกแถลงจะทำให้เกิดการรับฟังเพื่อเปลี่ยนแปลงความคิดได้ 
ถ้าความคิดที่แตกต่างนั้นมีเหตุผลเพียงพอ และพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงความคิดเพื่อสิ่งที่ดีกว่า 
9) พื้นที่การถกเถียง อาจไม่ใช่การแสวงหาฉันทามติเพียงเป้าหมายเดียว เนื่องจากระดับของการพูดคุยถกแถลงมีได้ 7 ระดับที่แตกต่างกัน คือ 
ระดับที่ 1 การสนทนาในชีวิตประจำวัน ระดับที่ 2 หารือเพื่อมีความเห็นร่วมกัน ระดับที่ 3 มุ่งมั่นกำหนดนโยบาย ระดับที่ 4 ออกแบบการสนทนาให้มีความหลากหลาย 
ระดับที่ 5 มีความเป็นสถาบันและเป็นทางการ ระดับที่ 6 มีการผลักดันให้เกิดผลในทางปฏิบัติ และระดับที่ 7 มีความผูกมัดทางการเมืองและกฎหมาย   
 
ข้อเสนอแนะเพื่อลดข้อจำกัดดังกล่าวมา  คือ การสร้างรูปแบบของการถกแถลงและไตร่ตรองร่วมกัน ให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น 
อาทิ ลูกขุนเสวนา โพลล์เสวนา ประชาเสวนา หรือมีการจัดประสานงานเพื่อการสนทนากับองค์กรต่างๆ และใช้สื่อทางเลือกหรือ Social media ให้มากยิ่งขึ้น ผสมผสานรูปแบบของประชาธิปไตยแบบร่วมไตร่ตรอง (deliberative) กับการสนทนาอย่างตั้งใจและรับฟังผู้อื่นมากยิ่งขึ้น (dialogue) 

ในเรื่องการขับเคลื่อนต้องมีการทบทวนว่ายุทธศาสตร์การขับเคลื่อนในแต่ละประเด็นจะเป็นการเน้นผลลัพธ์ระยะสั้น (เคลื่อนเพื่อผลในทางปฏิบัติ) 
หรือเน้นผลระยะยาวเพื่อสร้างความเข้มแข็งในภาคพลเมือง (เน้นเครือข่ายและการรู้เท่าทัน) มีการวิเคราะห์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย อย่างมียุทธศาสตร์ การพัฒนารูปแบบการติดตาม โดยเน้นต้นแบบที่ขับเคลื่อนอย่างได้ผล และสร้างกลไกความรู้สึกรับผิดชอบ (accountability) และการวิเคราะห์ว่าในแต่ละประเด็นควรมีจุดคานงัดจุดใดที่ทำให้การเคลื่อนไหวประสบความสำเร็จ เพื่อสะสมกรณีตัวอย่างเชิงปริมาณของความสำเร็จ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและความชอบธรรมในระยะยาว 
 
ที่มา: บางส่วนจากการสนทนาติดตามนโยบายสาธารณะ ตามธรรมนูญสุขภาพ 2550
การประชุมร่วมระหว่างสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ (สวสส.) กับสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)
14 ตุลาคม 2556 ณ ห้องประชุมสานใจ 2 อาคารสุขภาพแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข

***********************************
 


รวมบทความประกอบการประชุมวิชาการออนไลน์ “การดื้อยาต้านจุลชีพ: มิติทางสังคมของการใช้ยา”
ขอเชิญเข้าร่วมสัมมนาวิชาการ “การดื้อยาต้านจุลชีพ: มิติทางสังคมของการใช้ยา”
หนังสือจดหมายเหตุ COVID-19 รวมพลัง ร่วมใจ ฝ่าภัยวิกฤต (ระยะที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 30 มิถุนายน 2563)
สไลด์ประกอบการอบรม "โครงการวิถีชุมชน เครื่องมือ 7 ชิ้น"
ดูทั้งหมด »
E-Mail

รหัสผ่าน

จดจำการล๊อคอิน

สมัครสมาชิก ลืมรหัสผ่าน