รถเข็น (0 ชิ้น)
 
การประชุมระดับชาติการพัฒนาศักยภาพมนุษย์ในระบบบริการสุขภาพ (HR4H Forum 2018)

เขียนโดย
พุธ 15 สิงหาคม 2561 @ 06:06


การประชุมระดับชาติการพัฒนาศักยภาพมนุษย์ในระบบบริการสุขภาพ (HR4H Forum 2018)
ประจำปีงบประมาณ 2561 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 23-25 กรกฎาคม พ.ศ.2561


โดยความร่วมมือกันระหว่าง กองยุทธศาสตร์และแผนงาน  สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข, 
สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ สำนักวิชาการสาธารณสุข  สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข,
สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) 

มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ผลการดำเนินงานสร้างสุขในองค์กรและการบริหารจัดการกำลังคนของหน่วยงานสังกัดกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งถ่ายทอดนโยบายการสร้างสุขในองค์กรเพื่อให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นกระทรวงแห่งความสุข

ซึ่งมีผู้เข้าร่วมการประชุมกว่าพันคนจากทุกเขตสุขภาพ ในงานประชุมประกอบไปด้วยนิทรรศการ การบรรยาย เสวนา และอบรมเชิงปฏิบัติการ ที่น่าสนใจจำนวนมาก อาทิเช่น

การบรรยาย "Happy MOPH กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแห่งความสุข" 
โดย แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข
 

ซึ่งกล่าวถึงความท้าทายในการทำงานของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งสามารถเชื่อมโยงระหว่าง People Excellence Strategy กับ ยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (ด้านสาธารณสุข) ได้เป็น 4 ระยะ ดังนี้

Phase 1 (2560 -2564) ปฏิรูประบบ HRH Transformation 
Phase 2 (2565-2569) สร้างความเข้มแข็ง กำลังคนมีคุณภาพ เพียงพอกระจายอย่างทั่วถึง 
Phase 3 (2570-2574) สู่ความยั่งยืน 
Phase 4 (2575-2579) เป็น 1 ใน 3 ของเอเชีย 

และสิ่งที่จะเกิดขึ้น HRH 4.0 ในระยะต่อไป 1) Innovative health workforce 2) Biomedical Researcher 3) Skill & Knowledge worker 4) Policy maker & Law Advocator 5) นักควบคุมโรค & นักสร้างสุขภาพ 6) Health Economist 7) นักวิจัยและพัฒนาสมุนไพร 8) Medical Engineer 9) Medical Engineer และ 10) Expertise & Specialist 



การบรรยาย. “สุขจากงาน : การสร้างประสบการณ์ การทำงานสร้างสุข” 

โดย ดร. นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์  **
ดาวน์โหลดสไลด์ประกอบการบรรยาย**



        บรรยายถึงงานบันดาลใจว่า หมายถึงงานที่หล่อเลี้ยงชีวิตการทำงานของผู้คน เพราะห้วงเวลาที่ดีที่สุดของชีวิตเรานั้นไม่ใช่เวลาที่เราอยู่เฉยๆ แต่เป็นห้วงขณะที่ร่างกายและจิตใจถูกใช้งานอย่างเต็มขีดความสามารถ เป็นไปอย่างสมัครใจเพื่อบรรลุซึ่งความสำเร็จที่ยากลำบากแต่มีคุณค่า โดยมีการยกตัวอย่างเรื่องราวของชีวิตผู้คนในระบบสุขภาพในหลากหลายกรณี เช่น กรณีพี่โฮกหรือคุณประมวล ศรีพิทักษ์ ผู้ช่วยช่าง โรงพยาบาลลำสนธิ ที่กลายมาเป็นทีมผู้ฟื้นฟูผู้พิการ โดยใช้ความรู้ความสามารถในการเป็นช่างมาปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมของที่อยู่อาศัยให้กับผู้ป่วย ที่แม้จะทำให้ชีวิตการทำงานงานของพี่โฮกจะเปลี่ยนไป มีภาระงานที่เพิ่มขึ้น แต่การได้ค้นพบคุณค่าของงานใหม่ก็ได้สร้างความหมายใหม่ให้กับชีวิต
       นอกจากนี้ยังมีการบรรยายถึง การเปลี่ยนประสบการณ์เป็นงานบันดาลใจซึ่งประกอบไปด้วย 1) การสร้างคุณค่าในตน 2) สัมพันธภาพในองค์กร 3) สำนึกต่อสังคมและเพื่อนมนุษย์ 4) วัฒนธรรมการสื่อสาร 5) สติและตัวตนที่ตื่นรู้

       และการออกแบบประสบการณ์บุคลากรในแต่ละช่วงชีวิตการทำงานซึ่งประกอบไปด้วย 1) Enter ช่วงเวลาวันแรกจนถึง 1 ปีแรกของการทำงาน 2) Engage ช่วงเวลาหลังจาก 1 ปีแรก จนถึง 10 ปีก่อนเกษียณ และ 3) Exit ช่วงเวลา10 ปีก่อนเกษียณ ที่ในแต่ละช่วงต้องมีการออกแบบประสบการณ์ให้บุคลากรที่แตกต่างกันไป เพื่อให้ในท้ายที่สุดองค์กรจะสามารถกลายเป็นองค์กรบันดาลใจที่หล่อเลี้ยงงานบันดาลใจให้บุคลากร




“World Café HR Clinic”
โดยวิทยากรจากหลากหลายหน่วยงานที่มาร่วมกันนำเสนอกรณีตัวอย่างจากการสร้างองค์กรบันดาลใจ

 

 
       1) คุณวัชราภรณ์ เชษฐ์บุรี รพ.ลำพูน เล่าถึงกระบวนการเสริมสร้างสัมพันธภาพของบุคลากร เน้นการสร้างสัมพันธภาพ ให้บุคลากรรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร มีกิจกรรมวันเกิด โดยให้ผู้ที่เกิดเดือนเดียวกันทำกิจกรรมร่วมกัน มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แบบ Buddy ให้เขียนจดหมายขอบคุณบุคลกรในโรงพยาบาลที่อยากขอบคุณ โดยมีคนทำหน้าที่เป็นบุรุษไปรษณีย์ในการนำส่งจดหมาย ทำให้เกิดสัมพันธภาพที่ไม่เป็นทางการระหว่างเพื่อร่วมงาน 

       2) คุณเปรมศรี สาระทัศนานันท์ รพร.ด่านซ้าย จ.เลย งานบันดาลใจก่อนวัยเกษียณ กระบวนการ “ด่านซ้ายกรีเนต” เพื่อการพัฒนาศักยภาพเกษตรกรต้นแบบ ด้วยแนวคิด “จากป่าสู่ครัวชาวบ้าน” ส่งเสริมการปลูกพืชผักปลอดภัย มีการใช้กลไกเพื่อสร้างช่องทางการตลาด ให้ชาวบ้านนำผักไปขายในพื้นที่ของโรงพยาบาล ทำให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น

       3) คุณปรีชญา ประมูล รพร.ปัว จ.น่าน คนบันดาลงาน งานบันดาลใจ กระบวนการสำหรับสร้างสรรค์ งานบันดาลใจ เป็นการสร้างเครือข่ายกลุ่มเมล็ดพันธุ์ จัดเวทีให้บุคลากรเห็นคุณค่าในตนเอง การหล่อเลี้ยงด้วยการเป็นผู้ให้ เยียวยาความท้อแท้ที่เกิดจากการทำงาน 

       4) พญ.พรรณเพชร ลิขิตเกียรติขจร รพ.พุทธชินราชพิษณุโลก โรงเรียนการเงิน by พุด-ชิน กระบวนการจิตปัญญาที่ถูกนำมาออกแบบเพื่อดูแลสุขภาพ การดำเนินงาน โรงเรียนการเงิน โดยให้เจ้าหน้าที่ทุกระดับที่มีปัญหาหนี้สินเข้าร่วม กระบวนการมี 3 ระยะ ระยะที่ 1 สร้างความรู้ด้านการเงิน มีการทำบัญชีครัวเรือน การอ่านใบแจ้งหนี้บัตรเครดิต ระยะที่ 2 เปลี่ยนหนี้นอกระบบ เป็นหนี้ในระบบโดยการลดดอกเบี้ย ระยะที่ 3 การสร้างรายได้ เพื่อแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืน 

       5) นพ.นิรันดร์ ชัยศรีสุขอำพร รพ.สิงห์บุรี องค์กรสร้างสุข Happy MOPH กระบวนการขององค์กรสร้างสุข เน้นการแก้ปัญหาโดยการทำงานเป็นทีม จัดกิจกรรมตามมิติความสุขทั้ง 8 มิติ อาทิ มีกิจกรรมงานปีใหม่ คัดเลือกคนดีศรีสาธารณสุข การประกวดร้องเพลง และมีเงินรางวัลเพื่อส่งเสริมสุขภาพทางการเงิน จัดคลินิกสุขภาพทางการเงิน มีการทำบุญใส่บาตร ฟังธรรม งานกีฬาสี การจัดบอร์ดให้ความรู้ ส่งเสริมความรู้ในการสร้างอาชีพเสริม มีโครงการ 1 วัด 1 โรงพยาบาล

       6) คุณฐิตินันน์ หมื่นศรีชัย รพ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ หล่มสักบาริสต้า คาเฟ่ เสิร์ฟความสุขให้ทุก Gen กระบวนการขับเคลื่อนนโยบายของการพัฒนา คนเก่ง คนดี มีสุข เริ่มจากการสำรวจความต้องการที่หลากหลายในแต่ละช่วงวัย ผลักดันให้ Gen Y ขึ้นมาเป็นบุคคลสำคัญในการขับเคลื่อนงานขององค์กร โดยใช้หลัก 3E ดังนี้ Enter สร้าง Young Blood ในองค์กร Engage มีการออกแบบความสุขให้ทุกๆ Gen จัดกิจกรรม HR สัญจร Exit มีการสร้างอาชีพเสริมเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่วัยเกษียณ 

       7) คุณจิราพร ทองศรี รพ.สุรินทร์ โรงพยาบาลสุรินทร์ องค์กรแห่งความสุข กระบวนการสร้างโรงพยาบาลเป็นองค์กรแห่งความสุข โดยการตั้งรองผู้อำนวยการด้านกิจกรรมพิเศษ เพื่อดูแลกิจกรรมทั้งหมดในโครงการ Happy MOPH จัดทำแผนในระยะ 5 ปี เพื่อสร้างความสุขของผู้ให้และผู้รับบริการ ส่งเสริมให้ บุคลากรทำความดี และมีโครงการจิตอาสา ผลพลอยได้จากการทำกิจกรรมต่างๆ คือเงินบริจาค โดยโครงการเชิญชวนให้บุคลากรมีส่วนร่วมในการแบ่งปัน รวมทั้งมีบ้านพักให้คนไข้ยากไร้ที่ไปรักษามะเร็ง 

       8) นพ.กิตติ โล่สุวรรณรักษ์ รพ.คูเมือง จ.บุรีรัมย์ หยิน หยาง กระบวนการวิเคราะห์องค์ออกแบบเชิงกระบวนการแก้ไขปัญหาเชิงระบบ จากโรงพยาบาลที่มีปัญหาเรื่องวัฒนธรรมการกล่าวโทษ มีการออกแบบการแก้ปัญหาโดยการค้นหาไปที่รากของปัญหาและใช้กระบวนกรในการช่วยแก้ปัญหา เช่น ออกแบบตารางการแบ่งงาน ใช้ระบบสารสนเทศในการลดภาระงาน

       9) คุณประพันธ์ ไชยศรี รพก.นาวัง จ.หนองบัวลำภู งานบันดาลใจโรงพยาบาลของพ่อ ความเป็นโรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา  ภายใต้คำว่า More Than Hospital จัดกิจกรรมทำความดีด้วยแนวคิดใช้การทำงานที่ยากลำบากเพื่อให้คนเกิดแรง คนเห็นความสำคัญในการทำความดี

       10) คุณเอกรัฐ คำวิไล รพ.สต.คมบาง จ.จันทบุรี Happy Time @ CHAN เส้นทางสร้างสุขตามวิถีครอบครัวสา’สุขจันทร์ที่ก้าวเดินไปพร้อมกัน มีการสร้างทีมนักสร้างสุขของจังหวัด เกิดวงดนตรีสร้างสุข นำสู่การแลกเปลี่ยนการดำเนินงานของแต่ละอำเภอครอบคลุม 8 มิติของความสุข ผ่านโครงการ 1 อำเภอ 1 Happy

       11) คุณพรสุรีย์ สินแต่ง รพ.ละงู จ.สตูล เครือข่ายบันดาลงาน ชุมชนบันดาลใจ การทำงานกับชุมชน ด้วยการขับเคลื่อนทีมพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนระดับอำเภอ (พชอ.) ใช้เครือข่ายในการดำเนินงาน พชอ. ในพื้นที่ มาพัฒนางานร่วมกัน ในการขับเคลื่อน Happy MOPH ด้วยหลัก 3E โดย Enter มีการปฐมนิเทศร่วมกันทั้งเครือข่าย Engage มีการอบรม และสร้างสุขในแต่ละมิติ Exit มีกิจกรรมไดอารี่ความประทับใจจากรุ่นพี่สู่รุ่นน้อง เป็นการสร้างสุขที่บูรณาการกับกิจกรรมอื่นๆ ไม่สร้างงานเพิ่ม

       12) คุณวันมาฮาแดร์ อาแด รพ.สุไหง-โกลก จ.นราธิวาส การสร้างสุขในองค์กรพหุวัฒนธรรม กระบวนการก้าว...ไปด้วยกัน สร้างสรรค์ ความสุขในชีวิตและการทำงาน มีการออกแบบโครงการ 12 โครงการ สอดคล้องกับความสุข 9 มิติ และ 3E มีกิจกรรม HR Clinic ที่ให้คำปรึกษากับบุคลากรที่มีปัญหาในการทำงาน 

       นอกจากนี้ยังมีหัวข้อที่น่าสนใจอื่นๆอีกมากมายเช่น  การฝึกการจัดการความขัดแย้งในองค์กร  การฝึกใช้ Employee experience mapping  การฝึกใช้เกมเพื่อสร้างสุของค์กร
 


รวมบทความประกอบการประชุมวิชาการออนไลน์ “การดื้อยาต้านจุลชีพ: มิติทางสังคมของการใช้ยา”
ขอเชิญเข้าร่วมสัมมนาวิชาการ “การดื้อยาต้านจุลชีพ: มิติทางสังคมของการใช้ยา”
หนังสือจดหมายเหตุ COVID-19 รวมพลัง ร่วมใจ ฝ่าภัยวิกฤต (ระยะที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 30 มิถุนายน 2563)
สไลด์ประกอบการอบรม "โครงการวิถีชุมชน เครื่องมือ 7 ชิ้น"
ดูทั้งหมด »
E-Mail

รหัสผ่าน

จดจำการล๊อคอิน

สมัครสมาชิก ลืมรหัสผ่าน