รถเข็น (0 ชิ้น)
 
แพทยศาสตร์ศึกษากับความเป็นมนุษย์

เขียนโดย admin
อาทิตย์ 02 กันยายม 2550 @ 17:00


ปาฐกถา
แพทยศาสตรศึกษากับการแพทย์ที่มีหัวใจความเป็นมนุษย์
Medical Education and Humanized Health Care:
Envisioning Compassionate Medicine

โดย นายแพทย์ โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์

สวัสดีครับ ผมได้รับการเชื้อเชิญให้มาช่วยนำเสนอแนวคิดเรื่องการเป็นแพทย์ที่มีหัวใจความเป็นมนุษย์สำหรับแพทยศาสตรศึกษาครับ ผมใช้หัวข้อเป็นภาษาอังกฤษว่า Medical Education and Humanized Health Care โดยมีชื่อรองว่า Envisioning Compassionate Medicine

ที่ใช้คำว่า Compassionate medicine เพราะอยากมองการแพทย์ในฐานะที่เป็นวิทยาศาสตร์ที่มีความเอื้ออาทรต่อความเป็นมนุษย์ หรือ Compassionate Science ซึ่งอาจจะนำพาเราไปสู่จินตนาการหรือความเป็นไปได้ใหม่ๆ ได้บ้าง

คำว่า คอมแพสชั่น (Compassion) นี้มีรากศัพท์มาจากคำว่า Com ซึ่งมีความหมายว่า ร่วมกัน กับคำว่า Passion ที่แปลว่าความทุกข์ คำว่า Compassion จึงหมายถึงความรู้สึกร่วมในความทุกข์ยากของคนอื่น

ครั้งหนึ่ง นักวิทยาศาสตร์ชั้นนำกับนักปรัชญาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ได้จัดเวทีเสวนาพูดคุยกับองค์ทะไลลามะขึ้น เป็นการเสวนาในเรื่องความเมตตากรุณาหรือความเอื้ออาทรจากมุมมองของวิทยาศาสตร์ ซึ่งในที่ประชุมได้ตั้งข้อสังเกตไว้น่าสนใจว่า จริงๆ แล้ว วิทยาศาสตร์มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความเมตตากรุณาหรือความเอื้ออาทรน้อยมาก

ลำพังเรื่องเกี่ยวกับอารมณ์ความรู้สึกนั้นก็เป็นเรื่องที่วิทยาศาสตร์ให้ความสนใจน้อยอยู่แล้ว แต่เมื่อมาศึกษาเกี่ยวกับอารมณ์ความรู้สึก วิทยาศาสตร์ก็จะให้ความสำคัญกับอารมณ์รุนแรงและเป็นอารมณ์ร้ายเช่น ความกร้าวร้าว มากกว่าเรื่องอารมณ์ที่ละเอียดอ่อน เช่น เรื่องของความเมตตากรุณาหรือความเอื้ออาทร

และเวลาพูดถึงเรื่องความกรุณาหรือความเอื้ออาทร วิทยาศาสตร์จะมาสำรวจความกรุณาว่าเกิดจากสารเคมีอะไรบ้างในสมอง คือมองความกรุณาหรือความเอื้ออาทรอยู่ที่อื่น

ที่ประชุมครั้งนั้นได้ตีพิมพ์ผลการประชุมและได้เสนอว่า ความรู้ที่เราต้องการอาจไม่ใช่คำอธิบายของวิทยาศาสตร์ว่าความกรุณาเกิดจากอะไร แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงในตัววิทยาศาสตร์เอง ให้เป็น คอมแพสชั่นเนต ซายน์ (Compassinate science) คือเป็นวิทยาศาสตร์ที่มีความละเอียดอ่อนและรู้สึกรู้สมกับความทุกข์ร่วมกันของมนุษย์

ผมคิดว่าการแพทย์ที่เราอยากจะจินตนาการไปข้างหน้า คือการแพทย์ที่มีความละเอียดอ่อนเข้าอกเข้าใจชีวิตและความทุกข์ของมนุษย์เช่นกัน

ฟื้นคืนอุดมคติ ฟื้นจิตวิญญาณของการแพทย์

ผมอยากเริ่มด้วยการเล่าเรื่องของพยาบาลชุมชนที่ทำงานในชุมชนภาคเหนือ เป็นเรื่องของผู้ป่วยคนหนึ่งที่เธอได้เข้าไปดูแล ผู้ป่วยคนนี้ชื่อคุณมนัส มนัสมีอาชีพรับจ้างทาสีอาคารบ้านเรือนต่างๆ ใหญ่บ้างเล็กบ้าง

วันหนึ่งเขาได้ไปรับจ้างทาสีอาคารใหญ่แห่งหนึ่ง ซึ่งต้องปีนไปบนหลังคาและใช้ลูกกลิ้งที่ต่อด้ามให้ยาว เพื่อทาสีไปบนอาคารได้สูงๆ ด้ามที่ใช้ต่อกับลูกกลิ้งนั้นทำจากท่อประปา

เมื่อมนัสทาสีได้พักหนึ่ง จังหวะที่เขาหันกลับมาเพื่อจะเอาลูกกลิ้งจุ่มลงในถังสี ด้ามของลูกกลิ้งก็ไปพาดเข้ากับสายไฟฟ้าแรงสูง ด้ามจับเป็นท่อประปาโลหะทำให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจร มนัสถูกไฟช็อตจนหมดสติตกจากหลังคาอาคารแห่งนั้น นอนสลบอยู่ด้านล่าง

พอรู้สึกตัวขึ้นอีกครั้งหนึ่งก็พบว่าแขน ๒ ข้างของเขาที่ถูกไฟฟ้าช็อตนั้นถูกตัดออกเสมอไหล่ จากคนที่เคยต่อสู้เพื่อเลี้ยงครอบครัวด้วยน้ำพักน้ำแรงของตนเอง ในฐานะหัวหน้าครอบครัว กลายเป็นคนที่ทำอะไรไม่ได้เลย

พยาบาลชุมชนที่ไปติดตามเยี่ยมหลังผ่าตัด เมื่อเห็นหน้าของมนัสก็รู้ทันทีว่าปัญหาที่เธอกำลังต้องให้การดูแลนั้นไม่ใช่การรักษาแผลหลังผ่าตัด แต่เป็นปัญหาที่ยิ่งใหญ่กว่ามาก เป็นปัญหาของการที่จะทำอย่างไรให้คนๆ หนึ่งซึ่งตอนนี้มีชีวิตที่ล้มทรุดลง พูดอย่างเดียวว่าอยากตาย

ทำอย่างไรให้เขาลุกขึ้นมาสู้ชีวิตต่อได้

ภารกิจการมาทำแผลหลังผ่าตัดนั้นง่าย แต่ภารกิจการฟื้นชีวิตของคนที่สูญสิ้นความหวังให้ลุกขึ้นมาสู้ใหม่อีกครั้งเป็นเรื่องที่ยาก

พยาบาลคนนี้ไม่ได้เรียนมาทางด้านการฟื้นฟูอะไรมากมาย แต่ด้วยจิตใจดีงาม เธอได้คุยกับคนไข้มาก หาทางช่วยทุกอย่าง โดยคิดหาทางแก้ปัญหาแบบง่ายๆ

มนัสบอกว่าเขารู้สึกแย่ที่ช่วยตัวเองไม่ได้เลย ที่มีชีวิตอยู่ก็เพื่อเป็นภาระให้กับภรรยาอย่างเดียว คิดจะฆ่าตัวตายอยู่เสมอ พยาบาลที่เข้าไปดูแลก็เริ่มหาทางให้เขาช่วยเหลือตนเองในเรื่องง่ายๆ ครับ เริ่มต้นด้วยเอาแปรงสีฟันไปตอกใส่ประตูวงกบห้องน้ำ แล้วให้เขาแปรงฟันโดยใช้ปากอมแปรงที่ตอกไว้ แล้วโยกหัวไปมาเพื่อทำความสะอาดฟัน แล้วไปดูในห้องส้วม มนัสบอกว่าสิ่งที่เขาไม่ชอบที่สุดคือ การที่ต้องให้ภรรยาล้างก้นให้เมื่อถ่ายอุจจาระ พยาบาลชุมชนจึงช่วยต่อท่อทำเป็นก๊อกน้ำออกมา แล้วทำให้ปลายท่อสูงขึ้นมาอยู่ในระดับที่สะดวกในการชำระล้าง และให้สามารถใช้ขาเหยียบเปิดปิดก๊อกได้ ทำให้เขาล้างชำระด้วยตัวเองได้

ไม่นานนัก มนัสก็ค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้น แต่ก็ยังไม่ยอมออกไปไหน อยู่แต่ในบ้าน

มนัสมีลูกสาวอยู่คนหนึ่งที่เขาตั้งใจทำงานส่งเรียนจนจบมหาวิทยาลัยราชภัฎ วันที่ลูกจบการศึกษา ลูกสาวอยากให้พ่อไปรับปริญญา แต่พ่อไม่กล้าไป

พยาบาลที่ดูแลมนัสถามเขาว่า มนัสได้ทุ่มเทส่งเสียลูกมาตลอด ทำไมไม่ไปงานรับปริญญาลูก มนัสบอกว่าเขากลัวลูกจะต้องอายเพื่อนที่มีพ่อพิการ กลัวเพื่อนๆ ของลูกจะดูถูกลูก พยาบาลที่ดูแลต้องคุยกับมนัสอยู่นาน หาทางทุกอย่างจนในที่สุดมนัสยอมไปงานรับปริญญาของลูกสาว

เมื่อเขากลับมาก็มาขอบคุณเจ้าหน้าที่พยาบาลคนนี้มาก บอกกับพยาบาลว่าวันนี้เป็นวันที่เขามีความสุขที่สุด เพื่อนๆ ของลูกไม่มีเลยสักคนที่รังเกียจคนพิการอย่างเขา

หลังเหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นต้นมา เราเห็นมนัสลุกขึ้นได้อีกครั้ง

ผมคิดว่าในการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์นั้น บริการทางการแพทย์กับเรื่องของความเป็นมนุษย์นั้นอยู่ชิดติดกันเหมือนกับเหรียญสองด้าน แต่เรามักมองไม่เห็นเหรียญด้านที่เป็นชีวิต ที่สะท้อนเรื่องราวความเป็นมนุษย์

เพราะมุมมองทางการแพทย์ที่เราคุ้นเคยและได้ร่ำเรียนมา รวมทั้งวัฒนธรรมการทำงานที่ได้ถูกตอกย้ำปลูกฝังให้กับบุคลากรทางการแพทย์ได้ทำให้เราขาดความใส่ใจในมิติของความเป็นมนุษย์ไปโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว

กระบวนการที่จะเปลี่ยนมุมมองให้สามารถเห็นอีกด้านหนึ่งของชีวิตหรือความเจ็บป่วย คือเห็นความเจ็บป่วยที่มีโฉมหน้าของมนุษย์อยู่ด้วยนั้น ผมคิดว่าเป็นภารกิจที่ท้าทายการแพทย์ในยุคสมัยปัจจุบันเป็นอย่างยิ่ง
หากเรามองสุขภาพจากมุมมองของความเป็นมนุษย์แล้ว เราอาจกล่าวได้ว่า สุขภาพ หรือสุขภาวะนั้นก็คือสภาวะของความเป็นมนุษย์ที่เต็มเปี่ยมสมบูรณ์ การแพทย์ที่มีหัวใจของความเป็นมนุษย์จึงดูแลผู้ป่วยในฐานะที่เป็นมนุษย์คนหนึ่ง ซึ่งย่อมมีสิทธิ์ที่จะใฝ่ฝัน มีสิทธิ์ที่จะมุ่งมั่นสร้างชีวิตของตัวเองให้ได้ตามความฝันและไม่ควรเป็นชีวิตที่พ่ายแพ้หรือต้องล้มเหลวเพียงเพราะว่าเกิดความเจ็บป่วยหรือความพิการทางร่างกายขึ้นเท่านั้น

จากมุมมองของความเป็นมนุษย์นี้ภารกิจของเราจะไปพ้นจากการแพทย์ที่เป็นไปเพียงเพื่อการซ่อมอวัยวะ ไปสู่การสร้างสรรค์ชีวิต ไปสู่การเติมเต็มเป็นมนุษย์ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

การแพทย์ที่มีหัวใจความเป็นมนุษย์ที่ว่านี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ในภารกิจทางการแพทย์ในทุกๆ เงื่อนไข ไม่ว่าจะอยู่ที่วอร์ด ชุมชน ไม่ว่าจะเป็นงานด้านการส่งเสริม ป้องกัน รักษา และฟื้นฟู

ถ้าเราสามารถจะสร้างมุมมองต่อนิยามสุขภาพในความหมายกว้างเช่นนี้ การขับเคลื่อนระบบบริการที่มีหัวใจของความเป็นมนุษย์น่าจะเป็นเรื่องที่ไม่ยากเกินความมุ่งมั่นของเรา

ส่วนหนึ้งของปาฐกถาเรื่อง
แพทยศาสตรศึกษากับการแพทย์ที่มีหัวใจความเป็นมนุษย์
Medical Education and Humanized Health Care:
Envisioning Compassionate Medicine
นำเสนอในเวทีเครือข่ายการพัฒนาระบบสุขภาพที่มีหัวใจความเป็นมนุษย์ (คสม.)
เรื่อง “HHC ใส่หัวใจให้ระบบสุขภาพ”
วันอังคารที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๕๐
ณ ห้องประชุมเอกาทศรถ ๙ ชั้น ๓ อาคารสิรินธร
โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก
(จัดโดย แผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์
และ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร)

ดาวน์โหลดบทความทั้งบทได้ที่ หน้าดาวน์โหลด



รวมบทความประกอบการประชุมวิชาการออนไลน์ “การดื้อยาต้านจุลชีพ: มิติทางสังคมของการใช้ยา”
ขอเชิญเข้าร่วมสัมมนาวิชาการ “การดื้อยาต้านจุลชีพ: มิติทางสังคมของการใช้ยา”
หนังสือจดหมายเหตุ COVID-19 รวมพลัง ร่วมใจ ฝ่าภัยวิกฤต (ระยะที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 30 มิถุนายน 2563)
สไลด์ประกอบการอบรม "โครงการวิถีชุมชน เครื่องมือ 7 ชิ้น"
ดูทั้งหมด »
E-Mail

รหัสผ่าน

จดจำการล๊อคอิน

สมัครสมาชิก ลืมรหัสผ่าน